xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกอัยการ ชี้ คดี ‘ด.ช.วัย 14 ’ กราดยิงในห้างพารากอน ต้องรอแพทย์รักษาจนหาย คาดยังไม่ปล่อยตัวป้องกันก่อเหตุซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษกอัยการ ชี้ คดี ‘ด.ช.วัย 14 ’ กราดยิงในห้างพารากอน ต้องรอแพทย์รักษาจนเด็กหายเท่านั้นถึงจะดำเนินคดีได้ พรุ่งนี้นัดถกทีมแพทย์-สหวิชาชีพ คาดยังไม่ปล่อยตัวเด็ก เพื่อป้องกันก่อเหตุซ้ำและสังคมต้องปลอดภัย


วันนี้ (31 ธ.ค.) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้า สำนวนคดี ด.ช.วัย14 ปี กราดยิงในห้างพารากอน ซึ่งปรากฏรายงานการประเมินผลวินิจฉัยและตรวจรักษาในสำนวนการสอบสวนของคณะแพทย์ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรักษาพบว่า เด็กชายวัย 14 ปี ยังมีอาการป่วยและเป็นคนไข้ในของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ กระทั่งอัยการได้ส่งคืนสำนวน กลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขั้นตอนให้ถูกต้อง
ว่า เมื่ออัยการคืนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไม่สามารถสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานได้จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้ เพราะต้องทำตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไว้ก่อน จนกว่าผู้ต้องหาจะหายจากอาการป่วย และต่อสู้คดีได้ โดยจะต้องรอการประเมินการตรวจรักษาของแพทย์เท่านั้น

ดังนั้นในวันนี้ ( 31ธ.ค.) ซึ่งครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมของสถานพินิจฯ คณะแพทย์และกลุ่มสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์สามารถประสานผู้ปกครองเด็กเพื่อรับตัวไปบำบัดรักษา หรือ อาจบังคับใช้กฎหมาย ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 และ 36 ได้ โดยสามารถรับผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กและสังคม จากนั้นทางแพทย์จะมีการส่งผลประเมินให้กับพนักงานสอบสวน ทราบทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติแต่ถ้าเด็กหายป่วยก่อนกำหนด 180 ก็สามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบได้ทันทีเพื่อจะหยิบยกคดีขึ้นทำการสอบสวนต่อไป โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึงจะขาดอายุความในวันที่ 3 ต.ค. 2586

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า เมื่อครบผัดฟ้องครั้งที่ 4 แล้วและผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังอยู่ระหว่างรักษามีปัญหาว่าสุดท้ายจะต้องปล่อยตัวเด็กอายุ14 ปีไปหรือไม่ เรื่องนี้มีกฏหมายที่เกี่ยงข้องต้องพิจารณา 3 ฉบับ คือ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา14 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวนไว้เมื่อได้ความว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กป่วยและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีผลประเมินการบำบัดรักษาว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้แล้วเท่านั้น

และกฎหมายฉบับที่ 2 คือพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน พ.ศ.2553 มาตรา 78 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องครั้งที่ 4 ในวันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานอัยการไม่สามารถที่จะพิจารณาสำนวนหรือสั่งฟ้องได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากตีกลับสำนวนเพราะการสอบสวนไม่ชอบ ทำให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาของสถานพินิจได้สิ้นสุดลงด้วยและ3 พ.ร.บ.สุขภาพจิต ปี 2551 มาตรา 22 และ 36 ที่ให้อำนาจคณะแพทย์และสหวิชาชีพด้านจิตเวชของสถาบันกัลยาราชนครินทร์ที่บำบัดรักษาผู้ต้องหาสามารถควบคุมเด็กไว้เพื่อบำบัดรักษาต่อได้จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กจะหายป่วยแต่ทั้งนี้จะต้องรายงานผลการบำบัดรักษาให้พนักงานสอบสวนทราบทุก 180 วัน ซึ่งการรับตัวไว้ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพราะผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังป่วยและจะต้องได้รับการบำบัดรักษาเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเองและบุคคลอื่น

นายประยุทธ์ยังเปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับหนึ่งในทีมที่บำบัดรักษาได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือกระบวนการทำงานของกลุ่มแพทย์และสหวิชาชีพ พี่บำบัดรักษาเด็กไม่เพียงแต่จะบำบัดรักษาให้หายป่วยเท่านั้นแต่ยังต้องวิเคราะห์หาสาเหตุการก่อเหตุ ตามหลักนิติจิตเวชเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขการก่อเหตุซ้ำอีกด้วย

ดังนี้1.เอาตัวไปรักษาจนกว่าจะหายป่วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2.ค้นหาสาเหตุของการก่อเหตุเรียกว่ากระบวนการนิติเวชเพื่อค้นหาปัจจัยที่นำไปสู่สาเหตุ (การค้นหาต้นเหตุที่นำไปสู่การก่อเหตุและแรงกระตุ้น เช่น การคบเพื่อน การให้ความสนใจเรื่องการมีและใช้อาวุธปืน) 3.ปัจจัยที่ดำรงอยู่ว่าเด็กคนนี้คบหากับเพื่อนที่มีพฤติกรรมด่อเหตุอันตรายหรือไม่ 4.ค้นหาเหตุจูงใจในการก่อเหตุซึ่งเราเรียกว่าการใช้หลักนิติเวชควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาล ดังนั้น จึงคาดว่ายังปล่อยตัวไปไม่ได้เพราะยังไม่รู้สาเหตุ ไม่เช่นนั้น อาจมีเหตุการณ์พารากอน 2 หรือ 3 อีกก็ได้

"มีแนวโน้มว่าแพทย์จะไม่ปล่อยจนกว่าจะค้นหาสาเหตุ แลัในวันพรุ่งนี้ 1 มค.67ทางสถาบัลกัลยา สถานพินิจ และผู้ปกครองเด็กจะพบกันที่สถบันดัลยา ซึ่งยังไม่ทราบเวลาแน่นอน" นายประยุทธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น