MGR Online - “ดีเอสไอ” ชี้แจงของกลางคดีทุจริตชุมนุมสหกรณ์ปาล์มน้ำมันกระบี่ยังถูกอายัด ยืนยันทำงานเป็นคณะกรรมการมีบุคคลภายนอกร่วมด้วยและตามหลักกฎหมาย
วันนี้ (29 ธ.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “เนื่องจากเป็นของกลางในคดีที่ต้องถูกดำเนินการตามมาตรการฟอกเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว กรณีได้มีประชาชนได้ยื่นเรื่องขอให้ตรวจสอบ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กับพวก โดยกล่าวหาว่าได้เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการใช้ดุลพินิจมิชอบสั่งให้คืนทรัพย์สินของกลางในคดีพิเศษที่กล่าวหาว่ามีการทุจริต ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ทั้งหมดให้กลุ่มผู้กระทำความผิดครอบครอง และทำให้ได้ใช้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต่อเนื่องจนเครื่องจักรสึกหรอเป็นเหตุให้ชุมนุมสหกรณ์ปาล์มน้ำมันกระบี่ ได้รับความเสียหาย นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบแล้วพบว่าคดีดังกล่าวมีการดำเนินคดีโดยแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมี รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน มีการแต่งตั้ง พนักงานอัยการระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการดำเนินคดีรวมทั้งการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน ตามประเด็นที่ร้องเรียนนั้น
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติเห็นชอบให้อายัดสิทธิของทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องตาม “สัญญาจะซื้อจะขาย” ระหว่าง สหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ และบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2564 จำนวน 16 รายการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินรวมประกอบกันเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สาขาคลองท่อม ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนกล่าวหาไว้ระหว่างการสอบสวนเพื่อตรวจสอบตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 24 (5) และต่อมาได้ยึด/อายัด เป็นของกลางเพื่อเป็นพยานหลักฐานตามกฎหมายแล้ว
โดยระหว่างอายัดไว้ตรวจสอบนี้ ได้มีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางนิติกรรม และปัจจุบันทรัพย์สินของกลางดังกล่าวยังคงมีข้อพิพาททางแพ่งและโต้แย้งในเรื่องสัญญา จะซื้อจะขายกันที่อยู่ในการพิจารณาของศาลจังหวัดกระบี่ รวมทั้งในคดีดังกล่าวมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา จำนวน 22 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 (1) มาตรา 132 มาตรา 133/5 ประกอบมาตรา 51/1 มาตรา 51/2 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ความผิดดังกล่าวถือเป็น “ความผิด มูลฐาน” ตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีการรายงานการอายัดทรัพย์สินดังกล่าวและประสานขอให้ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอชี้แจงให้ทราบว่า สิ่งของดังกล่าวทั้ง 16 รายการ ยังถือว่าเป็นของกลางในคดีพิเศษจนกว่าคดีจะถึงที่สุด พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังมิได้มีการเพิกถอนการยึด/อายัดทรัพย์สินของกลางตามที่มีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบแต่ประการใด”