MGR Online - ”ดีเอสไอ“ ประชุมวางแผนเข้าค้น 2 เป้าหมาย จ.นครปฐม รวบรวมหลักฐานคดีหมูเถื่อนเพิ่มเติม เตรียมสรุปอีก 2 สำนวนเอาผิด จนท.รัฐ
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ในฐานะเลขานุการฯ คดีนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน และคณะทำงานร่วมกันประชุมหารือเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวภายหลังประชุมว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีมติแยกสำนวนออกเป็น 2 สำนวน คือ สำนวนที่มีตู้คอนเทเนอร์เกี่ยวข้อง 2,388 ตู้ โดยจะมีการขออนุมัติเป็นเลขคดีพิเศษอีก 1 คดี ส่วนอีกสำนวนที่จะขออนุมัติให้เป็นเลขคดีพิเศษ จะเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์กว่า 10,000 ตู้ หรือเรียกว่า ขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (สุกร) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ ทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตรเถื่อนที่ผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการสอบสวนทางคดี
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีมติเกี่ยวกับ 2 สำนวนคดี (คดีพิเศษที่ 101/2566 รายบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด และ คดีพิเศษที่ 104/2566 รายบริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด) ซึ่งจากการสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจาก 2 หน่วยงานมาเกี่ยวข้องกับการนำเข้าตู้หมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ โดยยังไม่มีข้าราชการฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้อง ซึ่งดีเอสไอจะสรุปทั้ง 2 สำนวนภายในสัปดาห์หน้า และส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า วันนี้มีเพียงผู้ต้องหาหนึ่งราย คือ นายสุรพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นอดีตกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด ที่จะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนและให้ปากคำชี้แจง เนื่องจากพบพฤติการณ์ว่านายสุรพงษ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์จำนวน 1 ตู้ ซึ่งถูกอายัดไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยเป็นตู้ที่มีการนำเข้าในห้วงวันที่ 3 ก.ค.65 - 4 ก.ย.65 ส่วนข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้ง คือ ร่วมกันกระทำความผิดฐานนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น และร่วมกันนำซากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ล่าสุดเจ้าตัวให้การปฏิเสธ และจะต้องเข้ายื่นหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในภายหลังต่อไป
ด้าน นายชาญเวทย์ บูชา ทนายความของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด ซึ่งได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนและมอบเอกสารเพิ่มเติม เปิดเผยว่า มีเอกสารบางส่วนล่าช้านั้น เนื่องจากดีเอสไอได้ตรวจยึดเอกสารส่วนใหญ่ของบริษัทไว้ และทางบริษัทต้องรอยื่นขอคัดสำเนาการเสียภาษีจากกรมศุลกากร และสำเนาใบเสร็จจากกรมปศุสัตว์ เพื่อนำมายื่นต่อดีเอสไอภายหลัง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินกิจการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในหมู เช่น ตับหมูแช่แข็ง ไส้หมู และปอดหมูอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เป็นการนำเข้าเองเกือบทั้งหมดไม่ผ่านบริษัทชิปปิ้งเอกชนใดๆ และมีใบนำเข้า ใบเคลื่อนย้าย มีการเสียภาษีให้ศุลกากรในอัตรา 30% และกรมปศุสัตว์อีกกิโลกรัมละ 7 บาท
“ทุกตู้คอนเทเนอร์ที่นำชิ้นส่วนเครื่องในหมูเข้ามากว่า 300-400 ตู้ มีใบเสร็จทั้งหมด มีการส่งรายงานให้กรมการค้าระหว่างประเทศทุกปี และทางบริษัทเป็นคู่ค้ากับบริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ สยามแม็คโคร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ยืนยันว่าสินค้าที่ส่งให้กับสยามแม็คโคร ไม่ใช่ชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งเถื่อนแต่อย่างใด”
นายชาญเวทย์ เปิดเผยว่า แต่ที่บริษัทต้องโดนหางเลขในคดีนี้ และนายวิรัช ภูริฉัตร ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนหมูเถื่อน จากการที่ปรากฏเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับ 2 บริษัทชิปปิ้งเอกชนที่นำเข้าเนื้อหมู เพราะทางบริษัทได้ลองตกลงรับซื้อไว้ 3 ตู้คอนเทเนอร์ แต่ไม่ได้รู้เห็นเรื่องกระบวนการนำเข้าหรือการสำแดงเท็จใดๆของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ซึ่งเมื่อนำเข้ามาชิ้นส่วนเครื่องในหมูก็ถูกยึดอายัดไว้นาน 8 เดือน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสั่งปล่อยออกมา และถูกนำไปเก็บไว้ที่ห้องเย็น ซึ่งบริษัทก็มีเอกสารทุกอย่างยืนยัน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) คณะพนักงานสอบสวน เตรียมเปิดปฏิบัติการตรวจค้น 2 พื้นที่เป้าหมายในจังหวัดนครปฐม เพื่อเข้าตรวจค้นและยึดพยานเอกสาร วัตถุพยาน ก่อนพิจารณานำประกอบสำนวนคดี