xs
xsm
sm
md
lg

"นายกสภาทนาย"ช่วยชาวบ้านโดนหลอกลงทุนพลังงานไฟฟ้า หลังตกขบวน ปปง.ยื่นอายัดทรัพย์กว่า 500 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



"นายกสภาทนาย"ช่วยคดีชาวบ้าน 400 กว่าคนโดนหลอกลงทุนพลังงานไฟฟ้า หลังตกขบวน ปปง.ยื่นร้องศาลเเพ่งอายัดทรัพย์ผู้ต้องหากว่า 500 ล้าน เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืน ส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของแผ่นดิน

วันนี้ (6 ธ.ค ) ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความฯ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ เเถลงข่าว กรณีที่นางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกลุ่มผู้เสียหายหลายร้อยคน ยื่นร้องขอความช่วยเหลือ กรณีถูก บริษัทเอกชนที่ชักชวนด้วยการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียโดยใช้บุคคลมีชื่อเสียงให้ประชาชนลงทุนธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซื้อหุ้นและจ่ายเงินปันผลร้อยละ 5 ทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 50 สัปดาห์ ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินเข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2563 ได้มีการปิดทุกระบบ ต่อมาจึงไปแจ้งความ แล้วทาง ปปง.ได้ยึดอายัดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ไว้จำนวน 500 ล้านบาท จากนั้นอัยการสำนักอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวกับพวกต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.94/2564 และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.100/2565 ซึ่วศาลแพ่งได้พิพากษาว่าเงินที่บริษัทดังกล่าวได้มามิชอบ จึงให้คืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 299 ราย ที่ยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้แล้ว 81 ล้านบาท

ดร.วิเชียร กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายไปร้องขอความเป็นธรรมที่กระทรวงยุติธรรม อ้างว่าถูกบริษัทเอกชน 2 เเห่งชักชวนให้มีการลงทุนซื้อหุ้นโดยมีการจ่ายเงินปันผลตามอัตราที่ค่อนข้างสูงแต่ปรากฏว่าในชั้นส่วนคดีแพ่ง ปปง.ประสานให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้ไต่สวนและอายัดเงินผู้ที่ถูกกล่าวหา และก็ให้ผู้เสียหายไปยื่นคำร้องขอรับเงินจากการที่ได้มีการอายัดเอาไว้โดยปปง.แต่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เข้ายื่นคำร้องในส่วนที่ศาลเเพ่งมีคำสั่งไปเเล้วในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงมาร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ กระทรวงยุติธรรม เห็นว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและมีผู้เสียหายจำนวนมากจึงส่งเรื่องมายังสภทนายความ ตนจึงเชิญผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีนางอภันตรี เป็นตัวแทนนำผู้เสียหายบางส่วน มาให้ข้อมูลกับเรื่องที่มันเกิดขึ้นทั้งหมด ว่าผู้เสียหายเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร เพื่อสภาทนายจะได้รวบรวมข้อมูลเพื่อจะมีการพิจารณาดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย ในส่วนของคดีอาญาก็ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนพนักงานอัยการพิจารณาสั่งพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม

โดยคดีแพ่งที่อัยการยื่นคำร้องอายัดทรัพย์ตามพ.ร.บ.ฟอกเงิน ที่ศาลมีคำสั่งไปเเล้วจะถือว่าสิ้นสิทธิ์ในการที่จะขอรับเงิน เท่าที่ดูข้อกฎหมายเบื้องต้นคิดว่าช่องทางช่วยเหลือผู้เสียหายมีอยู่ 2 ช่องทาง ช่องทางที่ 1.คือในคดีอาญาเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้อง คดีฉ้อโกงประชาชน ผู้เสียหายจะสามารถที่จะยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมและยื่นคำร้องขอให้ทางจำเลยในคดีอาญาที่จะเกิดขึ้นชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ช่องทางที่ 2 ทราบในเบื้องต้นว่าตอนนี้น่าจะมีผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจากที่ปรากฏอยู่ในสำนวนของคดีแพ่ง ดังนั้นถ้าหากมีผู้ต้องหาเพิ่มเติม ก็เข้าสู่กระบวนการ ที่ปปง.จะส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลอายัดเงินอันนี้คือเราดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินได้เช่นกัน

เมื่อถามว่าในส่วนคดีอาญาทางสภาทนายจะช่วยเหลือหรือไม่


ดร.วิเชียร กล่าวว่า อยู่ที่ผู้เสียหายว่าต้องการเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการหรือไม่ ถ้าต้องการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องให้จำเลยในคดีดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็สามารถที่จะทำได้ตรงนั้นก็ต้องหารือกันหาข้อสรุปกันอีกครั้งเมื่อเรารับเป็นคดีช่วยเหลือแล้วก็เป็นหน้าที่ของทางสภาทนายในการที่จะจัดหาทนายความเข้าไปช่วยเหลือทางคดีในชั้นศาลต่อไป

"จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเชิงป้องกัน ซึ่งเราประสานงานกันกับหน่วยงานของทางภาครัฐว่าเราจะมีวิธีการที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกได้อย่างไร เรื่องแรกที่อยากจะฝากก็คืออะไรก็แล้วแต่ ที่มีข้อเสนอโดยเงื่อนไขผลตอบแทนมันสูงเกินกว่าในอัตราที่กฎหมายกำหนดอย่างเช่นหลอกให้เราไปลงทุนโดยจะมีค่าตอบแทนคิดเป็นร้อยละแล้ว 200 -300% โอกาสในการที่จะถูกหลอกลักษณะนี้เป็นไปได้สูง ก็จะเห็นแบบนี้อยู่เป็นระยะๆก็ต้องฝากพี่น้องประชาชนในกรณีที่ถูกชักชวนให้ลงทุนไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่มันไม่มีอะไรที่ลงทุนน้อยแล้วได้เงินเยอะเกินความคาดหมาย อย่าไปหลงเชื่ออะไรง่ายๆ ปัญหาในการหลอกลวงผ่านสื่อโซเชียลทุกวันเยอะมาก แม้แต่ตัวตนเองนั้นถูกแอบอ้างแล้วก็มีคนหลงเชื่อเสียเงินไป 3-4 ล้านบาท แล้วก็มีหลอกให้ไปลงทุนหุ้นทองบอกว่ามีผลตอบแทนดี สุดท้ายก็โดนหลอกไปซึ่งก็รับสารภาพโดยตรงว่าที่ไปหลงเชื่อเพราะความโลภของตนเอง

นายสุนทร เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า เรื่องนี้ขอบคุณ รมต.ยุติธรรมที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนส่งเรื่องให้กับทางสภาทนายความ ซึ่งนายกสภาทนายก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัจจุบันสภาทนายความได้เผยแพร่ความรู้กฎหมายเพื่อให้ได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องของการรู้ไม่เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ หรือเรื่อง พ.ร.บ.อุ้มหายฯอยู่ในการระหว่างการเผยแพร่ให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เรื่องนี้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกและรวดเร็วก็อยากที่จะให้จัดแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 10- 20 คนและให้มีหัวหน้ากลุ่มช่วยรวบรวมพยานหลักฐานและสอบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น

ด้านนายวีรศักดิ์ รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวเพิ่มเติมว่าเดิมคดีนี้ผู้เสียหายประมาณเกือบ 700 รายแต่ในการดำเนินคดีนี้แบ่งออกเป็น2 ส่วน ส่วนแรกก็คือคดีเรื่องเกี่ยวกับการฟอกเงิน ปปง. ได้ไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง ปรากฏว่ามีผู้เสียหายอยู่ประมาณ 299 ราย ที่ยื่นบัญชีขอรับเฉลี่ยทรัพย์ จากเงินที่ปปง.ไปยึดไว้ทั้งก้อน ก็คือเงินที่ได้จากกระทำความผิดจากผู้เสียหาย700 ราย ปปง.ไปยึด อายัดไว้แล้วก็มี การยึดทรัพย์เพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดินมีผู้เสียหาย 299 ราย ไปยื่นขอความประสงค์เฉลี่ยมาแต่อีกประมาณเกือบ 400 รายไม่ทราบว่าจะต้องไปยื่น ก็เลยไม่ได้ไปยื่นในเวลาที่กำหนด ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาว่าทรัพย์สินของบริษัทนี้ได้มาโดยไม่ชอบแต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คัดค้านอยู่หลายราย ซึ่งศาลฟังว่าเขามีเหตุที่ควรจะได้กันส่วนของเค้าออกมา2-3 ราย จำนวนไม่มาก แต่เงินก้อนใหญ่ทั้งก้อนศาลให้ตกเป็นของแผ่นดินโดยให้ผู้เสียหาย 299 ราย มีสิทธิ์เข้าไปเฉลี่ยตามสัดส่วน สรุปว่าเงินทั้งก้อนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนส่วนแรกคือให้คืนผู้คัดค้านไปส่วนนึง แต่จำนวนไม่มาก ส่วนที่สองก็คือให้ผู้เสียหาย มีโอกาสที่จะเฉลี่ยออกมาตามสัดส่วนของความเสียหายและส่วนที่เหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้นคือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งยังไม่ถึงที่สุดมันก็ยังต้องมีการอุทธรณ์ ฎีกาอีก ตอนนี้เชื่อว่ายังมีผู้เสียหายทั้งหมดประมาณ 400 รายมูลค่าความเสียหาย 60 ล้านบาท

เมื่อถามว่า มีการอายัดทรัพย์ในส่วนเเรกจ่ายคืนผู้เสียหายเท่าไปเท่าใด

น.ส.ปริมณ์ สาริยา ผอ.ส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ2 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เคยมีบัตรสนเทห์มาถึงดีเอสไอ แต่เมื่อเรียกมาเพื่อจะสอบสวนกลับไม่ปรากฎมามีใครมาให้ข้อมูล ทางคดีในส่วนดีเอสไอจึงต้องปิดไป และส่งเรื่องไปทางตำรวจ ปอศ. ตอนนี้ไม่สามารถรับมาเป็นคดีพิเศษได้เพราะเป็นการทำสำนวนซ้อนกับตำรวจ ปอศ. อย่างไรก็ตามทางดีเอสไอมีไลน์บัญชีทางการ ซึ่งจะแบบคำถามประเมินเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจว่าควรลงทุนไหมมีความเสี่ยงหรือไม่ ถือเป็นช่องทางที่ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่
โดยครั้งแรก ปปง.ได้อายัดทรัพย์ไว้ประมาณ 500 กว่าล้านบาท ผู้เสียหายที่เข้าสู่กระบวนการประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งมูลค่าที่ได้เฉลี่ยทรัพย์คืนน่าจะประมาณ 81 ล้านบาท ก็จะมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท ถ้าไม่มีผู้เสียหายหรือเจ้าหนี้มาร้องขอ ตามกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น