xs
xsm
sm
md
lg

สนง.ศาลยุติธรรมจับมือ ASEAN – ACT สัมมนาผู้พิพิพากษา วางแนวปฏิบัติคดีค้ามนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



สนง.ศาลยุติธรรม จับมือ โครงการอาเซียน – ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ สัมมนาผู้พิพากษาศาลสูง-ศาลชั้นต้น พัฒนาแนวปฏิบัติพิจารณาคดีค้ามนุษย์

วันนี้ (16 พ.ย.) สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับโครงการอาเซียน – ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN – ACT) จัดโครงการสัมมนาผู้พิพากษาว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ และแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายและพยานที่มีความเปราะบาง โดยมีผู้พิพากษาในพื้นที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 เขตอำนาจครอบคลุมภาคใต้ตอนบน เข้าร่วมการสัมมนาฯ ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย.2566 ณ โรงแรมเดอะเวสทิน สิเหร่ เบย์รีสอร์ท แอนด์สปา ภูเก็ต โดยโครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้งนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 ครอบคลุมเขตอำนาจของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษาในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตอำนาจสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1- 7 และภาค 9 เข้าร่วมสัมมนาแล้วกว่า 150 คน โดยสืบเนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความร้ายแรง มีความซับซ้อน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของผู้พิพากษาในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งนอกจากการพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่แล้วศาลยังมีบทบาทสำคัญในการตีความกฎหมาย วางหลักเกณฑ์การรับฟังพยานหลักฐาน การบริหารจัดการคดีและการพิจารณาคดี โดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย “โครงการสัมมนาของผู้พิพากษาว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคดีค้ามนุษย์” จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริม

ให้ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีค้ามนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความที่เกี่ยวข้อง แนวปฏิบัติในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์อย่างเหมาะสม

เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกา ข้อที่ 2 “เที่ยงธรรม” คือ ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรในศาลยุติธรรมนี้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ ในอนาคตสำนักงานศาลยุติธรรมกำลังพิจารณาและศึกษาการจัดทำหลักสูตรอบรมที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้แก่ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ในแผนกคดีค้ามนุษย์

ในศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ภายใต้หลักนิติธรรม และสามารถขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนามาตรฐานการอำนวยความยุติธรรมของศาลยุติธรรมในระดับสากลอย่างเป็นรูปธรรม และสัมฤทธิ์ผลตามแผนงานและนโยบายที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น