วันที่ 11 พ.ย. ผศ.ดร.อภิรัตน์ กังสดารพร รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พานักศึกษาหลักสูตร ปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง (Ex-LP) เข้าร่วม “โครงการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม สร้างผู้นำจิตอาสา เพื่อพัฒนาชุมชนสู่สังคมธรรมาธิปไตย” โดยร่วมกับองค์กร Local Alike นำนักศึกษาลงพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชนคลองเตย ล็อก 1-2-3 ชุมชนล็อก 4-5-6 และชุมชนพัฒนา 70 ไร่ โดยนัดหมายรวมตัวเพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดของกิจกรรม ที่มูลนิธิดวงประทีป บริเวณชุมชนล็อก 6 ถนนอาจณรงค์ แขวงและเขตคลองเตย กทม.
สำหรับ Local Alike นั้นเป็นองค์กรที่ช่วยนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ควบคู่กับการให้ความรู้คนในชุมชน ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเอง พร้อมกับเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้งรางวัลชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ประจำปี 2562 และรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2019 ประเภท Startup of the year จากการมองเห็นศักยภาพของแต่ละชุมชนที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างมีเอกลักษณ์
ทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์พร้อมได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นทางการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสนอประสบการณ์ท้องถิ่น และเพิ่มความสามารถในการจัดการท่องเที่ยวด้วยชุมชน รวมถึงคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้ชุมชน ส่งผลให้มีการสร้างอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนหรือผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงเกิดการถ่ายทอดและอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวตามหลักการทำงาน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.พัฒนาคน 2.พัฒนาธุรกิจและบริการ 3.พัฒนาเทคโนโลยี และ 4.พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายอิศรากรณ์ สุวรรณทิพย์ ผู้บริหาร บริษัท เอเชียวาณิช จำกัด ผู้ผลิตสื่อการเรียนรู้ชั้นนำ สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักศึกษาปริญญาโท ที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ประชากรในชุมชนมีจำนวนมาก อยู่อย่างแออัด และเท่าที่ตนทราบก็เป็นเช่นนี้มานานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลง คือการสร้างเศรษฐกิจใหม่ๆ
ในชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากหน่วยงานของรัฐและเอกชนต่างๆ ที่เข้ามาให้ความรู้ ผ่านผู้นำชุมชน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ก่อให้เกิดรูปแบบคณะกรรมการชุมชน กลุ่มอาชีพในชุมชน เป็นการสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ลดปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ได้ดี ต้องขอขอบคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ Local Alike ที่ทำให้ได้มารับประสบการณ์ที่ดีในวันนี้
ขณะที่ นายสกล จินดาโชติสิริ ผู้บริหาร บริษัท สหไพศาลอินดัสทรี จำกัด ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ตนเห็นว่า ชาวชุมชนคลองเตยมีความเข้าใจ ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแออัด และทัศนียภาพที่เป็นปัญหามายาวนาน ที่สำคัญจะหวังพึ่งพารัฐบาลหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งมาแก้ปัญหาลำพังคงไม่พอ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนในชุมชนเอง ในการกำจัดขยะ ปัญหาน้ำเสีย ฝุ่น PM 2.5 และปัญหาอื่นๆ ไปพร้อมกัน.