xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ! ยื่น กมธ.ที่ดิน ขอให้สภาผู้แทนฯ เร่งช่วยเหลือประชาชน เดือดร้อนจากการเก็บภาษีที่ดินก้าวหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



นักวิชาการ ยื่น กมธ.ที่ดิน ขอให้สภาผู้แทนฯ เร่งเยียวยา-หามาตรการช่วยเหลือประชาชน ชาวบ้าน ที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบ จากการเก็บภาษีที่ดินก้าวหน้า


สืบเนื่องจากกรณีปัญหาที่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา เห็นได้จากที่ดินในพื้นที่ต่างๆ มีการติดป้ายประกาศขายจำนวนมาก ประชาชนบางรายมีอาการวิตกกังวล เพราะฐานระบบภาษีในอัตราก้าวหน้าที่สูงขึ้นทุกปี โดยมีงานวิจัยและบทความหลากหลายสามารถสืบค้นได้ทั่วไป ที่เขียนสะท้อนแสดงมุมมองการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรค สร้างความรู้สึกให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ ยิ่งนับวันปัญหายิ่งขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้น

 วันนี้ (9 พ.ย.) ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าตนได้ทำจดหมายยื่นถึง นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความอนุเคราะห์ศึกษาและหามาตรการช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

โดยเนื้อหาในจดหมาย ระบุว่า เพื่อขอความอนุเคราะห์ศึกษาและหามาตรการช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน และเพื่อเป็นการเสนอแนวทางออก จึงใคร่ขอให้ท่านประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎรและคณะ ช่วยพิจารณาศึกษาปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ในประเด็นต่างๆ เช่น

1. กรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายและผลกระทบต่อประชาชน พร้อมหามาตรการปรับปรุงแก้ไข สร้างความชัดเจนในหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดิน กับ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือผู้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ ผู้ได้รับมรดก หรือผู้มีที่ดิน แต่ไม่มีกำลังความสามารถที่จะพัฒนาที่ดินด้วยเหตุอื่นๆ เป็นต้น

2. การศึกษาแนวทางมาตรการกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า รวมทั้งหลักเกณฑ์วิธีการการใช้ ดุลยพินิจ การตีความ ของสภาพที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแห่งสภาพ เช่น ที่ดินที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขัง ที่ดินเสื่อมสภาพ ให้มีการใช้ประโยชน์เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น แทนการเก็บภาษีในเพดานที่สูงมาก

3. การพิจารณากระบวนการชั้นตอนการให้ข้อมูล การชี้แจง การให้บริการของภาครัฐกับประชาชน ขั้นตอนการยื่นคัดค้าน การอุทธรณ์ หรือการยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาล รวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจการใช้ดุลยพินิจต่างๆ ของบุคคลผู้ปฏิบัติงานหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม จูงใจให้ประชาชนชำระภาษีในการพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

4. การพิจารณากระบวนการวิธีการเร่งรัดให้ชำระภาษี อัตราเบี้ยปรับและอัตราเบี้ยปรับเพิ่มของค่าภาษี การแจ้งระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การโอนกรรมสิทธิครอบครองในที่ดิน รวมถึงการยึดอายัดและขายทอดตลาดที่ดิน

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น เป็นเพียงประเด็นตัวอย่างที่ควรจะมีการพิจารณาศึกษาอย่างลึกซึ้ง และควรศึกษาในประเด็นอื่นๆ ประกอบเพื่อที่จะเกิดแง่มุมและประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น