xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 21 อดีตแกนนำและแนวร่วม พธม.ชุมนุมบริเวณรัฐสภา วันที่ 5-7 ตุลาฯ ปี 51

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง 21 อดีตแกนนำและแนวร่วม พธม.ชุมนุมบริเวณรัฐสภา วันที่ 5-7 ตุลาฯ ปี 51 ชี้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ มุ่งเปิดโปงทุจริต ขัดขวางน้องเขยทักษิณ แถลงนโยบาย ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรง เกิดจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต และไม่พอใจจึงตอบโต้เจ้าหน้าที่ โดยแกนนำไม่ได้สั่งการ

วันนี้ (2 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องพิจารณา 806 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.4924/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปีเศษ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 21 คน ซึ่งเป็นอดีตแกนนำและแนวร่วม พธม. เป็นจำเลยที่ 1-21 กรณีกลุ่ม พธม. เคลื่อนการชุมนุมจากทำเนียบรัฐบาล ไปปิดล้อมรอบอาคารรัฐภา ช่วงวันที่ 7 ต.ค. 2551 ไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือ กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่ง อย่างใดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309, 310


คำฟ้องโจทก์เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 บรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 - 7 ต.ค. 2551 จำเลยและกลุ่ม พธม. จำนวนหลายพันคน ร่วมมั่วสุมภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งเวทีปราศรัย และได้ยุยงปลุกปั่นให้กลุ่ม พธม. ทั้งประเทศไปรวมตัวปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมสภา โดยวันที่ 7 ต.ค. 2551 กลางวัน จำเลยกับพวกใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนพร้อมนำลวดหนามชนิดหีบเพลง และแผงกั้นเหล็กยางรถยนต์ผ่านไปลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขวางบริเวณรอบรัฐสภาทำให้ประชาชนไม่สามารถผ่านไปได้ และปราศรัยปลุกระดมให้ล้อมรัฐสภา เป็นเหตุเหตุให้ ส.ส.และ ส.ว. บางส่วนเดินทางเข้าไปประชุมสภาไม่ได้ และจำเลยกับพวกยังร่วมกันข่มขืนใจนายสุริยา ปันจอร์ อดีต ส.ว.สตูล, นายมณฑล ไกรวัตนุสรณ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคเพื่อไทย, นายปัญญา ศรีปัญญา อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย และข้าราชการฝ่ายการเมืองหลายคน โดยไล่ให้กลับบ้านและขู่ให้กลัวว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และยังมีการโห่ร้อง ด่าทอ ใช้หนังสติ๊ก อาวุธปืนยิง มีดฟัน ใช้ปลายธงทำด้วยเหล็กปลายแหลมแทงเจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน แถมยังมีการนำโซ่ไปล็อกกุญแจทางเข้า – ออกสภาทุกด้าน พร้อมประกาศขู่ว่าหากไม่ยุบสภาในเวลา 18.00 น. จะจับตัวประธานสภาและประธานวุฒิสภา รวมทั้งสมาชิกทั้งหมด ซึ่งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้ปีนกำแพงหนีออกทางด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายคนถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง

ต่อมาเวลากลางคืน จำเลยกับพวกยังได้ปราศรัย ยุยงให้กลุ่ม พธม. จำนวนหลายพันคน โดยมีอาวุธ มีด ปืน ไม้กระบอง ธง หนังสติ๊ก ฯลฯ เคลื่อนไปหน้าอาคารรัฐสภาและปิดล้อมทางเข้าออก และได้นำน้ำมันราดบนถนนหน้ารัฐสภาและขู่ว่าจะใช้กำลังประทุบร้าย ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งใช้รถกระบะ ทะเบียน วพ1968 กทม. ที่ขับขี่โดยนายปรีชา ตรีจรูญ ขับรถพุ่งไล่ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งอัยการได้แยกฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาไปแล้ว โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง


ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์

โดยวันนี้นายสนธิ, นายพิภพ, นายสมศักดิ์, นายวีระ,นายสุริยะใส และแกนนำทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีผู้สนันสนุนและผู้ใกล้ชิดมาร่วมให้กำลังใจ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วมีข้อวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการชุมนุมของกลุ่มฯเป็นไปโดยสงบและชอบธรรมหรือไม่ เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มฯเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อต้านการทุจริตต่อจากยุคของนายทักษิณ ชินวัตร และประกาศว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 239 และ มาตรา 309 เพื่อช่วยให้นายทักษิณไม่ถูกยึดทรัพย์และไม่ต้องรับโทษจำคุก และมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นมหาชน สร้างความเสียหายให้กับประเทศ จะเห็นได้ว่ามีนโยบายหลายๆข้อที่ทำให้คนจากหลายภาคส่วนไม่พอใจ จึงได้ออกมาโต้แย้งโดยการชุมนุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ตั้งแต่ เดือน พ.ค.2551 จนถึงวันที่ถูกสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 จำเลยที่ 1-2,4-21 ได้กล่าวเน้นย้ำให้ชุมนุมด้วยความสงบ ห้ามนำอาวุธเข้ามา และไม่มีการวางแผนทำผิดกฎหมาย เป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ต่อมามีการเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ลักษณะจู่โจมโดยที่ผู้ชุมนุมยังไม่ทันตั้งตัวจนเกิดความวุ่นวาย ทำให้ผู้ชุมนุมวิ่งหลบหนี บางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก็สน้ำตา เป็นการปฏิบัติข้ามขั้นตอน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้ประสานขอรถน้ำจาก กทม.แต่ไม่ได้รับการร่วมมือส่งรถน้ำมาให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงแก็สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจและหันมาตอบโต้ตำรวจโดยใช้ที่ยิงหนังสติ๊ก โดยใช้ด้ามธงปลายแหลม กระบองและหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมบางคน โดยไม่มีใครสั่งการ ถือว่าเป็นเจตนาส่วนตัวมิอาจนำมาถือเป็นเจตนาของทุกคนในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ ขณะที่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า พวกจำเลยชุมนุมโดยไม่สงบ ซึ่งไม่อาจชี้ได้ว่า จำเลยที่ 1-2,4-21 เป็นผู้สั่งการ แต่ความวุ่นวายเกิดมาจากการเริ่มยิงแก็สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม.เห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน มีการยิ่งแก็สน้ำตาจำนวนมาก เกินความจำเป็น อีกทั้งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่าการะทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มผู้ชุมนุม การกระทำของ จำเลยที่ 1-2,4-21 ไม่เป็นความผิดตามป.อาญา มาตรา 215,216 309, 310 ที่ศาลชั้นต้นพิพากยกฟ้องจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษยกฟ้อง


ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา 1 ในจำเลยในคดีนี้ ได้เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นมาจากตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้นการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำ

ส่วนอัยการโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น ก็อยากขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา

ส่วนจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากนี้นั้น ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยทั้ง 21 คน เรียงตามลำดับ ประกอบด้วย 1.นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. 2.นายพิภพ ธงไชย  อดีตแกนนำ พธม. 3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (เสียชีวิต) อดีตแกนนำ พธม. 4.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.สกลนคร และอดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2 5.นายประพันธ์ คูณมี อดีต สนช. 6.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำ พธม. 7.นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงาน พธม. 8.นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี อดีตแนวร่วม พธม. 9.นายสำราญ รอดเพชร อดีตแกนนำ พธม. รุ่น 2 10.นายศิริชัย ไม้งาม อดีตแกนนำ พธม. รุ่น 2 11.นายสาวิทย์ แก้วหวาน  อดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2 12.นายพิชิต ไชยมงคล อดีตแนวร่วม พธม. 13.นายอำนาจ พละมี อดีตแนวร่วม พธม. 14.นายกิตติชัย ใสสะอาด อดีตแนวร่วม พธม. 15.นายประยุทธ วีระกิตติ  อดีตแนวร่วม พธม. 16.นายสุชาติ ศรีสังข์ อดีตแนวร่วม พธม. 17.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตแนวร่วม พธม. 18.นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี อดีตแนวร่วม พธม. 19.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อดีตแนวร่วม พธม. 20.นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา 21. นายวีระ สมความคิด นักสิทธิมนุษยชน




















กำลังโหลดความคิดเห็น