ตำรวจ ปอศ.เปิดปฏิบัติการขุดรากถอนโคนแก๊งปลอมเพจทองออโรร่า หลอกชวนเทรดหุ้น รวบหัวโจกชาวจีน 4 ราย และสมุนชาวไทยอีก 22 ราย พบเงินหมุนเวียนกว่า 1,200 ล้านบาท
วันนี้ (31 ต.ค. ) ที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์ ,พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ ปฏิบัติราชการ รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ “CIB Anti Online Scam : ขุดรากแก๊งปลอมเพจ หลอกชวนเทรดหุ้น” หลังนำกำลังเข้าตรวจค้น 21 จุดเป้าหมาย ในพื้นที่ 8 จังหวัด สามารถจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวน 26 ราย ในจำนวนนี้มี 4 ราย ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการ หรือ จัดอยู่ในระดับหัวหน้า
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สำหรับแผนประทุษกรรมของคนร้ายกลุ่มนี้จะทำการปลอมเพจเฟซบุ๊กร้านทองออโรร่าขึ้นมา ก่อนโพสต์ชักชวนผู้คนให้นำเงินมาร่วมลงทุนเทรดหุ้น อ้างกำไรร้อยละ 20-30 ของเงินลงทุน ซึ่งแท้จริงแล้วผลกำไรต่างๆ เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่สร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดใจจากเหยื่อ แต่ไม่สามารถถอนออกมาเป็นตัวเงินได้ หากใครจะถอนเงินกลุ่มคนร้ายก็จะอ้างเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องเสียภาษี ต้องวางการันตี จนทำให้เหยื่อไม่สามารถถอนเงินได้ ก่อนจะตัดขาดการติดต่อ หรือ เชิดเงินทั้งหมดหนีไป ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า หลังทราบเรื่องจึงสั่งการให้ ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ. จัดกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ จนทราบตัวกลุ่มคนร้าย ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 50 ราย จับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 26 ราย ในจำนวนนี้มีหัวหน้าแก๊งหรือผู้ต้องหาระดับสั่งการ 4 ราย เป็นชาวจีน พร้อมตรวจยึดเงินในบัญชีคริปโตจำนวน 28 ล้าน สมุดบันขีธนาคาร ซิมการ์ด คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินขบวนการดังกล่าวพบมีเงินหมุนเวียนกว่า 1,200 ล้านบาท อยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินอีก 1 คดี
พ.ต.อ.ธีรภาส กล่าวว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้มีการทำกันเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน อาทิ คนจัดหาซื้อเพจ คนโพสต์ข้อความชักชวน คนติดต่อพูดคุยกับเหยื่อ คนสอนเทรดหุ้น บัญชีม้า คนแปลงทรัพย์สิน โดยมีนายทุนชาวจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ว่าจ้างคนไทยเป็นนอมินีเปิดบริษัทขึ้นมาบังหน้า 3 บริษัท ส่วนเส้นทางการเงินจากแนวทางสืบสวนพบว่า เมื่อมีเหยื่อหลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุน เงินของเหยื่อจะถูกโอนไปยังบัญชีม้าคนไทย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 แถว ก่อนจะถูกโอนต่อเข้าสู่บัญชีม้าแถวที่ 4 เป็นบัญชีคนต่างชาติ เพื่อรวบรวมเงินแล้วนำไปแปลงเป็นทรัพย์สินต่างๆ 3 รูปแบบ 1. สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศแล้วส่งไปที่ ประเทศกัมพูชา ลาว เพื่อขายกลับมาเป็นเงินสด 2.แปลงเป็นเงินสกุลดิจิตอลคริปโต และ 3. การแปลงเป็นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ โดยมีบริษัทนอมินีทั้ง 3 แห่ง คอยบริหารจัดการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบไม่มีการดำเนินกิจการอยู่จริง แต่กลับมีเงินหมุนเวียนนับพันล้านบาท สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดจำนวน 26 รายที่จับกุมตัวได้นั้น จากการสอบสวนเบื้องต้น มีบางส่วนให้การภาคเสธ และ บางส่วนยังคงให้การปฏิเสธ
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวอีกว่า ปกติแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะมีฐานที่ตั้งอยู่ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแผนประทุษกรรมหลอกลวงเงินจะเน้นการใช้โทรศัพท์เป็นหลัก ต่างจากแก๊งนี้ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในไทย เพราะไม่ได้ใช้โทรศัพท์ต่างจากเคสส่วนใหญ่ ส่วนผู้ต้องหาระดับบอสทั้ง 4 รายที่จับกุมตัวได้นั้น เราได้สืบสวนเฝ้าติดตามมาโดยตลอด ทราบว่าไปๆ มาๆ เข้าออกประเทศไทยบ่อยครั้ง จึงรอจังหวะที่เจ้าตัวกลับเข้ามาในประเทศไทยแล้วรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับจนจับกุมตัวได้ดังกล่าว
ผบช.ก. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ต้องหาคนไทยที่อยู่ร่วมในขบวนการดังกล่าวส่วนใหญ่ จะเป็นบัญชีม้า เลขา และ นอมินีกรรมการบริษัทต่างๆ พร้อมกันนี้ยังเตรียมขยายผลตรวจสอบกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ของบริษัทนอมินีทั้ง 3 แห่งเหล่านี้ด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
"อยากฝากไปถึงประชาชนทั่วไปที่มีความคิดอยากหาธุรกิจลงทุนต่อยอด ว่า การลงทุนที่จะได้ผลกำไรหรือผลตอบแทนสูงลักษณะนี้ไม่มีอยู่จริงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการลงทุนทุกอย่างต้องใช้วิจารณญาณคิดไตร่ตรองให้ดีอย่าหลงเชื่อะไรง่ายๆ " ผบช.ก.กล่าว