บช.ก.ทลายเครือข่ายโจรกรรมรถหรูจากมาเลเซียส่งขายเมียนมา ยึดของกลางกว่า 20 คัน มูลค่ากว่า 20 ล้าน - รวบแก๊งปลอมป้ายทะเบียนรายใหญ่
วันนี้ ( 27 ต.ค.) ที่ กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.ฐิติวัสล์ แซมเขียว รอง ผกก.8 บก.ทล. พ.ต.ท.นพรัตน์ คำมาก รอง ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.อนุสรณ์ ทองไสย รอง ผกก.6 บก.ป. พร้อมด้วย นายโหมด นาเดอ บินคัสซิน ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตฝ่ายตำรวจประเทศมาเลเซีย และนายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายค้ารถข้ามชาติ - เครือข่ายปลอมป้ายทะเบียนรถ
พ.ต.ท.อนุสรณ์ กล่าวว่า สำหรับคดีแรก ตำรวจ กก.6 บก.ป. นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 12 จุด ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร, นราธิวาส, ปัตตานี และ สุราษฎร์ธานี เพื่อทลายเครือข่ายลักลอบนำเข้ารถยนต์จากประเทศมาเลเซีย โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 11 ราย หลังทราบว่า ขบวนการดังกล่าวมีทั้งชาวไทยและชาวเมียนมา ลักลอบนำรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย เพื่อเตรียมส่งต่อไปยังปลายทางประเทศเมียนมา ทำกันเป็นขบวนการในลักษณะองค์กรอาชญากรรม เฉพาะเพียงห้วงระยะเวลาแค่ 1 ปี ทำมาแล้วกว่า 50 ครั้ง
พ.ต.ท.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มขบวนการดังกล่าวมีการสั่งทำแผ่นป้ายทะเบียน ป้ายภาษี และเอกสารที่เกี่ยวกับรถปลอม เพื่อนำมาใช้ตบตาหรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับและนำมาสู่การตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย พร้อมตรวจยึดแท่นพิมพ์ป้ายทะเบียน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปลอมแปลงเอกสารรถอีกหลายรายการ นอกจากนี้ยังได้ขยายผลไปยังผู้ครอบครองรถต้องสงสัยจนนำมาสู่การตรวจยึดรถหรูยี่ห้อต่างๆ ไว้ดำเนินการตรวจสอบอีกกว่า 20 คัน รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย เบื้องต้นให้การรับสารภาพ 2 ราย ส่วนที่เหลือให้การภาคเสธและ ปฏิเสธ
พ.ต.ท.นพรัตน์ กล่าวว่า คดีต่อมา ตำรวจ กก.2 บก.ป. ทลายแก๊งรับจ้างทำแผ่นป้ายทะเบียน แผ่นป้ายภาษี และเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ปลอม จับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวน 5 ราย สืบเนื่องจากเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจทางหลวง ได้จับกุมผู้ใช้รถบนต์สวมแผ่นป้ายทะเบียนปลอม รายหนึ่งในพื้นที่ จ.สระบุรี จึงประสานข้อมูลร่วมกับตำรวจ กก.2 บก.ป. ขยายผลไปยังกลุ่มขบวนการรับจ้างทำแผ่นป้ายทะเบียน และ เอกสารรถปลอมเหล่านี้ จนสืบทราบว่า มีการทำกันในลักษณะรูปแบบขบวนการ แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน อาทิ คนเปิดเพจเฟซบุ๊ก คนประสานงาน คนรับปลอมเอกสาร คนรับทำแผ่นป้ายทะเบียนปลอม คนรับทำแผ่นป้ายวงกลมปลอม ซึ่งผู้ที่สนใจจะต้องยอมจ่ายเงินค่าดำเนินการคนละ 2,500 บาท จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับและนำมาสู่การตามจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 รายนี้พร้อมของกลาง รถยนต์เก๋ง 2 คัน, แผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ 25 แผ่น, แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 47 แผ่น, อุปกรณ์ทำแผ่นป้ายทะเบียน 74 ชิ้น, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 12 เล่ม, โทรศัพท์มือถือ 8 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 2 เครื่อง, เครื่องพิมพ์เอกสาร 1 เครื่อง, แท็บเล็ต 1 เครื่อง, บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 2 ใบ, เอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำผิด 4 ฉบับ และสมุดจดชื่อลูกค้า 1 เล่ม
ด้าน พ.ต.ท.ฐิติวัสล์ กล่าวว่า ส่วนผลการปฏิบัติของตำรวจทางหลวงหลังได้รับการประสานข้อมูลและขยายผลมาจาก กก.2 บก.ป. สามารถตรวจจับรถที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมได้กว่า 151 คันในจำนวนนี้สามารถส่งคืนรถให้กับเจ้าของที่ถูกต้องตามกฎหมายได้มากกว่า 46 คัน ส่วนคันอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์หาเจ้าของที่แท้จริงต่อไป
ขณะที่ นายเสกสม กล่าวว่า ในส่วนของกรมการขนส่งทางบก นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบภายในว่ามีบุคลากรในกรมเข้าไปมีส่วนรู้เห็นกับเครือข่ายตามความผิดการปลอมแปลงเอกสารในลักษณะนี้หรือไม่ ยืนยันว่าหากพบว่ามีข้าราชการในสังกัดเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ส่วนเรื่องของแผ่นป้ายทะเบียนปลอมพบว่ามีการกระทำความผิดกว่า 501 คดี ได้มีการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่วนมากมาจากการเปิดเพจรับต่อทะเบียนหรือรับจองเลขต่างๆ จึงขอประชาชนอย่าหลงเชื่อกับขบวนการที่รับทำเกี่ยวกับเรื่องทะเบียนออนไลน์ลักษณะนี้ ขอให้มาดำเนินการด้วยตนเองที่กรมขนส่ง ซึ่งทางกรมขนส่งทางบกจะเร่งดำเนินแก้ไขดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทะเบียนให้มีความรวดเร็วเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงการลดใช้ป้ายแดงที่กำลังเป็นปัญหาเรื่องของป้ายแดงปลอมขณะนี้ไปพร้อมกันด้วย เชื่อว่าหากสามารถดำเนินการลดขั้นตอนในการจดทะเบียนรถให้มีความรวดเร็วมากขึ้น การใช้ทะเบียนป้ายแดงก็จะหายไปจากประเทศไทย เพราะในส่วนของป้ายแดงนั้นมีเอาไว้ใช้เพื่อติดกับรถที่ใช้ในการค้าขายหรือใช้ระหว่างซ่อมเท่านั้น
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีแนวทางในการเตรียมใช้ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจสอบการเฝ้าระวัง กรณีมีรถที่ถูกสวมทะเบียนเพื่อให้ประชาชนที่ถูกสวมทะเบียนสามารถเข้าตรวจสอบได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการนำมาใช้