“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2566 ตอน ล้มดีล เรือดำน้ำจีน สู่การหาเรือผิวน้ำ เสริมเขี้ยวเล็บทัพเรือ
เป็นที่ชัดเจนจากการแถลงข่าวหลังการตรวจเยี่ยมกองทัพเรือเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 เมื่อนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยันหนักแน่น โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือเป็นสักขีพยาน กรณีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนซึ่งยืดเยื้อเป็นมหากาพย์อันเนื่องมาจากจีนไม่สามารถจัดซื้อเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมันมาติดตั้งให้กับเรือดำน้ำของไทย ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วว่า
โครงการนี้ไม่สามารถไปต่อได้ แม้กองทัพเรือจะเคยเสนอทางออกในเบื้องต้นว่า สามารถยอมรับเครื่องยนต์จีนที่มีสมรรถนะเทียบเท่าเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน และเพิ่มเติมด้วยการขยายระยะเวลารับประกันและการซ่อมบำรุง หลังการขายเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 2 ปีก็ตาม
ก่อนหน้านี้ นายกเศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปร่วมประชุมที่สหรัฐอเมริกาและได้มีโอกาสพูดคุยกับทางเยอรมัน เพื่อขอความร่วมมือระดับรัฐบาลให้สนับสนุนการขายเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมันให้กับจีนเพื่อนำมาติดตั้งในเรือดำน้ำของไทย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้กองทัพเรือไม่มีทางเลือกเป็นอื่นนอกจากต้องยอมรับเครื่องยนต์จีนที่มีสมรรถนะเทียบเท่าเครื่องยนต์ MTU หากยังคงต้องการเรือดำน้ำ ซึ่งได้ใช้งบประมาณของกองทัพเรือซึ่งไม่ใช่งบกลางของรัฐบาลทยอยจ่ายเงินให้กับจีนตามงวดงานในสัญญาที่ได้ลงนามกันไว้
ในการแถลงต่อสื่อมวลชนที่กองทัพเรือเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม สุทินเปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างการเดินทางไปประเทศจีนร่วมกับนายกรัฐมนตรี ก็นำเรื่องเรือดำน้ำไปคุยกับรัฐบาลจีน แต่ยังไม่จบ 100% เพราะมีรายละเอียดต้องพูดคุย แต่ได้ข้อสรุปว่า ทางการจีนก็เข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นความลำบากใจของไทย แต่ขอความเห็นใจเช่นกันว่าปัญหาเขาถูกเบี้ยว เรื่องเครื่องยนต์จากเยอรมันเช่นกัน
ดังนั้น ต่างคนต่างเห็นใจกันและยินดีที่จะหาทางออกให้ ซึ่งจีนรับแนวทางที่เราเสนอไปพิจารณา
เมื่อถูกถามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตทจีนใช่หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า เราเสนอไปอย่างนี้จริง แต่โครงการเรือดำน้ำไม่ได้ยกเลิกไม่พับไม่ระงับ แต่ให้ชะลอระยะหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จ
อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกลงไปยังภาษากายและท่าทีของ พล.ร.อ.อะดุง ฯ ผู้บัญชาการทหารเรือ หลังรับการตรวจเยี่ยม บก.ทร. ในพระราชวังเดิมของรัฐมนตรีกลาโหม จะเห็นได้ว่า “บิ๊กดุง” ค่อนข้างนิ่งและไม่มีการให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าวกับนักข่าวสายทหารคนใด ว่ากันว่าหากหมดทางเลี่ยง ถ้อยคำที่บิ๊กดุงเตรียมไว้ก็คือ “ท่านรัฐมนตรีสุทินชี้แจงไปหมดแล้ว กองทัพเรือน้อมรับการตัดสินใจ”
นี่คือบุคลิกส่วนตัวของบิ๊กดุง ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งมีเวลาอยู่ในตำแหน่งเพียง 1 ปี แต่ต้องแบกรับภาระต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการกอบกู้ภาพลักษณ์ของทหารเรือซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญข้อหนึ่งที่บิ๊กดุงกล่าวในวันแถลงนโยบายต่อหน้านายทหารชั้นนายพลและนาวาเอกที่หอประชุมกองทัพเรือ
“เราไม่เคยถูกสื่อขุดคุ้ยโจมตีเรื่องความโปร่งใสในการซื้อจ้าง โดยมีเอกสารรั่วไหลเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งเรื่องกระสุนในคลังไม่เคยสูญหายมหาศาล กำลังพลประพฤติตนนอกแถว ที่สื่อพร้อมใจกันนำเสนอต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง”
นี่คือถ้อยคำบางส่วนที่พลเรือเอกอะดุงกล่าวในแถลงนโยบายซึ่งแสดงถึงความชัดเจนและเป้าหมายในการบริหารงานเพื่อนำพากองทัพเรือไปสู่ความเชื่อมั่นของประชาชนอีกครั้ง
สำหรับกรณีเรือดำน้ำจีน บิ๊กดุงได้ทำตามนโยบายของ “บิ๊กจอร์จ” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือคนก่อนให้ไว้ทุกประการ กล่าวคือ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาตามที่บิ๊กจอร์จวางไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
“แต่ในเมื่อรัฐบาลและทางกลาโหมไม่สามารถผลักดันแนวทางดังกล่าวได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของบิ๊กดุงและไม่อาจจะเป็นสิ่งที่บิ๊กจอร์จ พล.ร.อ.เชิงชาย ฯ จะนำมาเป็นสาเหตุขุ่นเคืองใจต่อผู้บัญชาการทหารเรือคนใหม่ที่ตนเองเป็นผู้เสนอชื่อ แทนแคนดิเดทอีก 2 คนที่พลาดตำแหน่งแต่อย่างใด” แหล่งข่าวในกองทัพเรือระบุเช่นนั้น
ส่วนกรณีที่โครงการเรือดำน้ำจะถูกแปลงร่างปรับเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรือฟริเกตหรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น
หากเจาะลึกลงไปในยุทธศาสตร์กำลังรบทางทะเลของกองทัพเรือแล้ว จะพบว่าการอัปปางของเรือหลวงสุโขทัยตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ส่งผลถึงศักยภาพทางทะเลของกองทัพเรือโดยไม่อาจปฏิเสธได้
เพราะเป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอดของคนในกองทัพเรือว่า เรือรบที่มีสมรรถนะสูงสุดของราชนาวีไทย มีเขี้ยวเล็บครบเครื่อง ปฏิบัติการได้ 3 มิติ เป็นที่ยำเกรงของฝ่ายที่อาจมีข้อพิพาททางทะเลกับไทยก็คือ เรือหลวงรัตนโกสินทร์และเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งสั่งต่อมาจากอู่เรือทาโคม่าในสหรัฐอเมริกา ติดตั้งอาวุธตามมาตรฐานของกองทัพเรือชั้นนำในชาติตะวันตก
ไม่ว่าจะเป็นจรวดฮาร์พูน ซึ่งเป็นจรวดแบบพื้นสู่พื้น มีระยะยิงพ้นขอบฟ้า ตอร์ปิโดสตริงเรย์สำหรับต่อต้านเรือดำน้ำ จรวดแอสปิเด้ต่อต้านอาวุธปล่อยและจรวดพื้นสู่อากาศสำหรับสกัดกั้นเครื่องบินโจมตีแบบอัลบราทรอส 8 ท่อยิง
แม้เรือรัตนโกสินทร์และเรือสุโขทัยซึ่งเป็นเรือชุดเดียวกัน จะมีระวางขับน้ำและขนาดเล็กกว่าเรือฟริเกตและเรือคอร์เวตอย่างเรือตากสิน นเรศวร และเรือภูมิพลอดุลยเดชก็ตาม
แต่หากเปรียบเทียบเขี้ยวเล็บและศักย์สงครามแล้ว แม้เรือชุดรัตนโกสินทร์และสุโขทัยจะไม่มีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ที่จะนำ ฮ. เดินทางไปด้วยขณะปฏิบัติการเหมือนเรือทั้ง 3 ลำที่กล่าวมาข้างต้น
แต่หากเทียบกับแบบ “หมัดต่อหมัด” แล้ว เรือรัตนโกสินทร์และสุโขทัยคือ ยอดนักรบทางทะเล “เล็กพริกขี้หนู” ที่กองทัพเรือเชื่อมั่นมากที่สุดหากมีสถานการณ์คับขันเกิดขึ้น
ดังนั้นการสูญเสียเรือสุโขทัยจึงกระทบต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือโดยไม่อาจปฏิเสธได้และการได้มาซึ่งเรือดำน้ำหากโครงการไม่ถูกล้ม ก็ยังไม่อาจเติมเต็มยุทธศาสตร์กำลังรบของกองทัพเรือที่มีอยู่เดิมได้อย่างสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนโครงการเรือดำน้ำจีนไปเป็นเรือฟริเกตหรือเรือ OPV อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อทดแทนเรือสุโขทัยจึงอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดและมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
อีกทั้งยังตรงใจทหารเรือส่วนใหญ่ที่ลึก ๆ ลงไปแล้วแอบขอบคุณรัฐมนตรีสุทินอยู่ในใจ ที่มีบทสรุปที่ว่าเรือดำน้ำชะลอไว้ก่อน รอได้ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยจัดหาเมื่อนั้น
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1