xs
xsm
sm
md
lg

ปปง. โชว์ผลงานรอบปี ยึดทรัพย์ “ฉ้อโกง ปชช.-พนันออนไลน์-ยาเสพติด” กว่า 9,400 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษก ปปง. แถลงผลงานยึดทรัพย์เกือบหมื่นล้านบาท ความผิดมูลฐานฟอกเงินพนันออนไลน์ ยาเสพติด และฉ้อโกงประชาชน แจ้งผู้เสียหายยื่นเรื่องคุ้มครองสิทธิ

วันนี้ (19 ต.ค.) เวลา 10.00 น. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษก ปปง. พร้อม นายพีรธร วิมลโลหการ , น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ และ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ในฐานะทีมงานโฆษก แถลงผลการดำเนินงานประจำเดือน ต.ค. 2566 ดำเนินการกับทรัพย์สิน 2,871 รายการ 41 คดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 662 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 51 รายคดี

นายวิทยา กล่าวว่า สำนักงาน ปปง. ไม่ได้สังกัดหน่วยงานหรือกระทรวงใดๆ และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเน้นย้ำให้ปฏิบัติงานด้วยหลักนิติธรรมและคุณธรรมเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยในรอบปีที่ผ่านมา ปปง.ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมแล้วกว่า 9,400 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน พนันออนไลน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยาเสพติด เช่น คดีฉ้อโกงหุ้น มอร์ รีเทิร์น จำกัด ยึดอายัดกว่า 4,500 ล้านบาท , คดีฉ้อโกงประชาชน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสถานีหลักสี่กับพวก ยึดอายัดทรัพย์สิน 18 ล้านบาท , คดีอั้ม PSV ยึดอายัดทรัพย์ 426 ล้านบาท , คดีสร้างโรงแรมบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา-เกาะหลีเป๊ะ ยึดอายัดทรัพย์ 130 ล้านบาท และคดีอื่นๆ โดยสามารถนำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดินส่งกระทรวงการคลังมูลค่ารวมกว่า 8,800 บาท

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.66 ได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สิน 9 คดี จำนวนทรัพย์สิน 75 รายการ พร้อมดอกเบี้ยมูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน ลักลอบหนีศุลกากร และจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น คดีของ นายบิน ฮู กับพวก ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการชักชวนลงทุนซื้อขายเงินสกุลดิจิตอล สั่งยึดอายัดทรัพย์เพิ่ม 30 รายการ มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท , รายคดีลักลอบหนีศุลกากร ขนเงินสดสกุลต่างประเทศเข้ามาในประเทศ มีคำสั่งยึดทรัพย์สิน 9 รายการ มูลค่ารวม 11 ล้านบาท และ คดีนายบรม ศรีมงคล กับพวก จัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ โดยสืบสวนการกระทำความผิดจากคดี “แอม ไซยาไนด์” ยึดทรัพย์จำนวน 26 รายการ จำนวน 12 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนคดีที่ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 22 รายคดี ทรัพย์สิน 1,812 รายการ มูลค่ากว่า 531 ล้านบาท ในจำนวนนี้ยึดทรัพย์สินของ นายชัยณัฐร์ หรือ “ตู้ห่าว” กับพวก ฐานความผิดยาเสพติดและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และคดีฟอกเงิน จำนวน 53 รายการ มูลค่าประมาณ 37 ล้านบาท รวมสองครั้งกว่า 60 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่ ป.ป.ส. และตำรวจอายัดไว้กว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของหน่วยนั้นๆในการดำเนินการตามกฎหมาย ​, ส่วนคดี นายประสิทธิ์ หรือเหว่ย เซี๊ยะกัง เจ้าพ่อยาเสพติด นำเงินจากการค้ายาเสพติดไปประกอบธุรกิจอื่นบังหน้า ปปง.ได้ดำเนินการยึดทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2530 และปัจจุปันยังตรวจยึดได้อีกกว่า 101 ล้านบาท ซึ่งการอายัดหรือยึดทรัพย์ไม่มีอายุความสามารถทำได้ตลอด

“ส่วนคดีนางรัชดา พงษ์พรหม กับพวก ปปง.ได้ยึดทรัพย์ในฐานความผิดจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่พบกล่องเงินธนบัตร 5 กล่องจากสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ซึ่งนางรัชดา ได้มาแสดงตัวเป็นเจ้าของแต่ไม่สามารถชี้แจงที่มาได้ จนเจ้าหน้าที่สืบสวนทราบว่ามีเส้นทางการเงินไปเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ 1 รายการ มูลค่า 40 ล้านบาท , คดี บ.ปลาคาร์ป ออนไลน์ กับพวก มีพฤติการณ์ประกาศให้บุคคลทั่วไปหลงเชื่อว่าหลอกจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ลงโฆษณาขายมีอยู่จริง ยึดอายัดทรัพย์ 10 รายการ รวม 14 ล้านบาท”

โฆษก ปปง. กล่าวเสริมว่า ส่วนคดี นายวุฒิมา เถาว์หมอ หรือ พระคม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี และพวก นำเงินสดที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไปฝากเข้าบัญชีส่วนตัวและขนย้ายทรัพย์สินไปซุกซ่อนตามพื้นที่ต่างๆ เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ พระเครื่อง มีมติยึดอายัดทรัพย์ 1,512 รายการ มูลค่ากว่า 301 ล้านบาท และ คดี น.ส.ปภาสิภัค แก้วทับทอง (ทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำกัด) สั่งยึดอายัดทรัพย์ 7 รายการ มูลค่า 9 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดี ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 9 รายคดี ทรัพย์สิน 222 รายการ มูลค่า 78 ล้านบาท อาทิ รายคดี นางสุรภี ทองสันต์ กับพวก หลอกร่วมลงทุนปล่อยกู้นอกระบบ คุ้มครองผู้เสียหาย 17 ราย , คดีนายสง่า อยู่เป็นสุข กับพวก ชักชวนลงทุนออมทรัพย์อิสลาม TMTV คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย 189 ราย และ คดีนายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา กับพวก ทุจริตปลอมเอกสารสิทธิและถอนเงินเข้าบัญชีตัวเองเป็นเหตุให้วัดบวรนิเวศวิหารได้รับความเสียหาย โดยทาง ปปง.ยึดทรัพย์สินมาแล้ว 3 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 130 ล้านบาท ดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย 3 ราย

ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังผู้เสียหายทุกคดี โดยคดีที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายภายใน 90 วัน ที่สำนักงาน ปปง. หรือสอบถามทางสายด่วน ปปง.1710






กำลังโหลดความคิดเห็น