MGR Online - “ศรีสุวรรณ” ร้อง ปลัด ยธ. ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ตรวจสอบภาพหลุก “ทักษิณ” นอนบนรถเข็นจัดฉากหรือไม่ เตรียมยื่นศาลปกครองหากราชทัณฑ์ใช้อำนาจโดยมิชอบ
วันนี้ (17 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ขอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ตรวจสอบข้อพิรุธการป่วยของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังมีภาพนอนป่วยเข้ารับการตรวจ CT SCAN และ MRI เพื่อสร้างสถานการณ์ให้นักโทษชายเด็ดขาดได้รักษาตัวต่อในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งขัดต่อกฎหมายราชทัณฑ์ 2560 และกฎกระทรวงหรือไม่ โดยมี นายปริญญ์วัฒน์ เปี่ยมปิ่นวงศ์ หัวหน้าศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข (ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม) เป็นตัวแทนรับเรื่อง
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากโซเชียลและสื่อมวลชนได้เผยแพร่หรือแชร์ภาพกันอย่างกว้างขวาง เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา จำนวน 1 ภาพ ซึ่งอ้างว่าเป็นภาพของการเคลื่อนย้ายนักโทษเด็ดขาดชายที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ป่วยจากชั้น 14 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ ลงมาชั้นล่างผ่านทางเดินเท้า เพื่อไปทำ CT SCAN และ MRI ที่ตึก ภปร.โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่มีการปิดกั้น บังม่านมิให้ผู้ใดล่วงรู้ หรือถ่ายภาพได้ แต่กลับมีภาพดังกล่าวเผยแพร่ออกมาสู่โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนเพียงภาพเดียวเท่านั้น รวมทั้งไม่มีคลิปวิดีโอใดๆ โดยไม่มีแหล่งที่มา ชี้ให้เห็นว่า มีเจตนาที่จะปล่อยภาพให้เป็นข่าว จึงไม่มีการปิดบังใบหน้าผู้ป่วย ขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประการ
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจัดฉากกันเพื่อหวังการตบตาสังคม หรือเพื่อเอื้อประโยชน์กันในการชงเรื่องมายังท่านปลัด ยธ. เพื่อขอนอนรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ต่อไป ก่อนครบ 60 วัน โดยไม่ต้องกลับเข้าคุกอีกหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาช่วงครบ 30 วัน เคยอ้างเหตุเข้ารับการผ่าตัดมาแล้ว และนายทักษิณที่นอนป่วยดังกล่าวมิได้มีการตัดผมเกรียน ไม่เป็นไประเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง 2565 ที่กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 9 ว่า “นักโทษเด็ดขาดชายให้ไว้ผมสั้น ด้านหน้าและด้านกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 ซม. ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” ซึ่งผู้ต้องขังหรือนักโทษทางการเมืองต่างๆ ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ทุกรายก็เห็นถูกตัดผมสั้นกันทั้งสิ้น แต่กรณีนักโทษชายรายดังกล่าวทำไมจึงเลือกปฏิบัติหรือให้อภิสิทธิ์ชนจนดูน่าเกลียดเกินไปหรือไม่
“ที่สำคัญ กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้นั้นต้องเป็นไปตาม ม.55 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 คือ 1. เป็นผู้ต้องขังซึ่งป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือ 2. เป็นโรคติดต่อร้ายแรงเท่านั้น ส่วนนักโทษชายรายนี้ นั้นผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และผู้บริหารเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แถลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 ว่า มีประวัติการป่วยเพียง 4 โรคสำคัญเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด”
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ตนจะไปยื่นศาลปกครอง กรณีที่กรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบให้นักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ หรือโรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นการใช้อำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ รวมถึงแพทยสภาขอช่วยตรวจสอบนายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ เพราะก่อนเข้าประเทศไทยยังมีสุขภาพแข็งแรง ส่วน นายกฯ ที่เคยไปพูดที่จังหวัดพิษณุโลก ว่า ดูแลผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมเสมอภาค จะร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบการเลือกปฏิบัติหรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวเสริมว่า กรณีเยี่ยงนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไม่ควรทำหน้าที่เพียงแค่ตรายาง หรือรับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาเพื่อทราบแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในการทำความจริงให้ปรากฎได้ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบเพื่อนำความจริงมาเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ หากพบใครผิดก็ลงโทษเสียจึงจะชอบ นอกจากนี้ น้องชาย นายเทพไท เสนพงศ์ ได้โพสต์ว่าเคยขอพระราชทานอภัยโทษจากกรมราชทัณฑ์ ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่