xs
xsm
sm
md
lg

สังคมแคลงใจ วันนี้ยุบตำรวจรถไฟ แล้วใครดูแลโบกี้?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) เป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการในสังกัดของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มีภารกิจในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ทั้งบนขบวนรถไฟ สถานีรถไฟ รวมถึงพื้นที่ในอาณาบริเวณของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

หากย้อนไปในอดีตกิจการรถไฟไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม เส้นทางตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา ใน พ.ศ.2433 ซึ่งระหว่างที่ทางการกำลังก่อสร้างเส้นทางเดินรถไฟนั้น ได้มีกลุ่มผู้ก่อการร้าย ปล้นสดมภ์ ทำลายทรัพย์สินของกรมรถไฟ อยู่เนืองๆ

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งกองตำรวจพิเศษขึ้น ในปี พ.ศ.2437 เพื่อปกป้อง คุ้มครอง รักษาชีวิต และทรัพย์สินของบุคลากรกรมรถไฟ โดยเรียกชื่อว่า “กองตระเวนรักษาทางรถไฟสายนครราชสีมา” ถือได้ว่าข้าราชการตำรวจได้เข้ามามีบทบาทกับยานพาหนะที่เรียกว่ารถไฟ นับแต่บัดนั้น

กระทั่ง พ.ศ.2349 การก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ได้สำเร็จลงบางส่วนจนสามารถที่จะเปิดเดินรถได้ ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีเปิดทางเดินรถไฟระหว่างสถานีกรุงเทพมหานคร-พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร

จึงถือเอา วันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนากิจการ การรถไฟ สืบมาจนปัจจุบัน

กิจการของกรมรถไฟ เจริญรุ่งเรืองถึงขั้นสามารถขยายเส้นทางเดินรถไปทั้งสายเหนือ และสายใต้ จึงได้มีพระราชดำริให้มีการจัดตั้ง “กองตระเวนรักษาทางรถไฟสายเหนือ” ขึ้นในปี พ.ศ.2442 และในปี พ.ศ.2443 จัดตั้ง “กองตระเวนรักษาทางรถไฟสายเพชรบุรี” ตามลำดับ

จากนั้นกรมรถไฟ ได้ร่วมกับกรมตำรวจ จัดวางมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ให้แก่กิจการรถไฟ และคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร จนมีการพิจารณาจัดตั้ง “กองตำรวจรถไฟ” ขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2495 กำหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2495

ดังนั้นเมื่อในอดีต วันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนา กองตำรวจรถไฟ

“กองบังคับการตำรวจรถไฟ” เป็นวิวัฒนาการจาก “กองตำรวจรถไฟ” ที่ถือกำเนิดมาแล้ว 72 ปี ภารกิจที่ผ่านมามีหน้าที่ถวายอารักขารักษาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ภารกิจสืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งบนรางและบนขบวนรถไฟ

ทำหน้าที่ดูแลผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการรถไฟ รวมถึงสนับสนุนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีสถานีตำรวจรถไฟ หน่วยบริการ กำลังพล ยานพาหนะ กระจายอยู่ในพื้นที่สำคัญทุกภาคทั่วประเทศ โดยปฏิบัติงานภายใต้ความรับผิดชอบในพื้นที่ของสถานีตำรวจรถไฟ จำนวน 15 สถานี กับอีก 40 หน่วยบริการ

ที่ผ่านมาตำรวจรถไฟ ต้องใส่ใจให้ความดูแลสถานีรถไฟ ทั่วประเทศ จำนวน 454 สถานี ขบวนรถโดยสาร-ขบวนรถขนสินค้า กว่า 300 ขบวน เส้นทางรถไฟกว่า 4,300 กิโลเมตร มีจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการ การดูแลกว่า 36.4 ล้านคนต่อปี โดยอัตราส่วนตำรวจรถไฟ 1 นาย ต้องดูแลผู้โดยสารกว่า 52,863 คน ขณะเดียวกันตำรวจรถไฟ 1 นาย ต้องดูแลรางรถไฟ 5.9 กิโลเมตร

ผลงานที่โดดเด่น นอกจากการดูแลผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เป็นหน้าเป็นตาของทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ การรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีผลงานด้านการปราบปรามอาชญากรรม ที่มาทั้งในรูปแบบของการลักทรัพย์ การพนัน การกระทำผิด พ.ร.บ.ศุลกากร การลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย การลำเลียงยาเสพติด ฯลฯ

ความมุ่งมั่นด้านการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ ของตำรวจรถไฟ ได้ผ่านประสบการณ์ ผ่านทักษะที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น ถึง 72 ปี ทว่าวันนี้ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ได้เป็นอดีต เหลือเพียงความทรงจำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลให้หน่วยงานนี้ต้องยุติบทบาทลงตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังให้โยกย้ายข้าราชการตำรวจกองบังคับการตำรวจรถไฟ ไปสังกัดอื่น ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเหลือไว้แค่ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟ ผ่านภาพถ่าย ข้อมูลที่ถูกบันทึกในตำรา ช่องทางโซเชียลมีเดีย และการบอกเล่าผ่านความทรงจำ ของผู้ที่เคยพบเห็นซึ่งจะบรรยายให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ฟังเท่านั้น

ณ ที่ตั้งสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ทีมข่าวของเราได้พบกับภาพความสับสน วุ่นวาย ของเหล่าตำรวจรถไฟ ในค่ำคืนวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตำรวจหลายนายกำลังช่วยกันขนย้ายข้าวของขึ้นรถกระบะ บางนายปัดกวาดพื้นที่บริเวณหน้าห้องขัง ส่วนหัวหน้าสถานีนั้นกำลังยืนจ้องมองภาพถ่าย “สมเด็จย่า” กับ “ในหลวง ร.9” ที่ถือเป็นภาพมงคล ซึ่งแขวนอยู่บนผนังคู่กับสถานีแห่งนี้มานานแสนนาน

ก่อนที่เจ้าตัวจะทอดถอนหายใจ อัญเชิญภาพดังกล่าวลงมาจากฝาผนัง เพื่อขนย้ายออกจากสถานที่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังจะส่งเจ้าหน้าที่มายึดคืนไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
ภาพถ่ายที่ว่า เป็นบอร์ดแสดงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยตรัสให้ข้าราชการตำรวจฟังว่า

“สมเด็จย่าสิ้นแล้วอย่างสงบที่สุด สมเด็จย่ารักตำรวจมาก ช่วยดูแลงานต่างๆ ของตำรวจอย่างดี เป็นการสมควรที่ตำรวจทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเข้มแข็งอย่างสุดความสามารถ เพื่อประเทศชาติ เพื่อจะได้เป็นพระราชกุศลต่อสมเด็จย่าต่อไป”

พ.ต.ต.ไตรรงค์ หน่วยตุ้ย ส.รฟ.ธนบุรี กก.1 บก.รฟ.ในฐานะหัวหน้าสถานีรถไฟธนบุรี ที่กำลังจะเป็นแค่สถานีในตำนาน บอกเราว่า “พวกผมเป็นตำรวจ จะให้ย้ายไปทำหน้าที่อะไร ตรงไหน ก็ทำได้ พวกเราต้องปรับสภาพให้ได้ แต่การยุบหน่วยงานตำรวจรถไฟ ผมมองว่าประชาชนคงจะตั้งข้อกังขา และผู้ใช้บริการจะต้องประสบปัญหาความเดือดร้อน”

ที่ผ่านมาเอาเฉพาะความรับผิดชอบของสถานีรถไฟธนบุรี ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลแค่นักท่องเที่ยวกับผู้โดยสารบนโบกี้รถไฟ แต่พวกเรายังดูแลทั้งแพทย์และพยาบาล ของ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ดูแลหอพักแพทย์และพยาบาล ดูแลพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดรถไฟธนบุรี หรือตลาดศาลาน้ำร้อน ดูแลลูกค้าที่สัญจรเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย

ทั้งประชากรหลักและประชากรแฝง ที่พักอาศัย และเดินทางเข้ามาในเขตรับผิดชอบ เอาแค่รอบๆ พื้นที่สถานี มีไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 คน แม้จะมีอัตรากำลังแค่ ราวๆ 20 นาย แต่พนักงานสอบสวนของเรามีคดีให้ทำทุกวัน ทั้งคดีฉ้อโกง ลักวิ่งชิงทรัพย์ คดีจราจร ไฟไหม้ ที่น่าเห็นใจคือบรรดาแพทย์และพยาบาล มีบุคลากรของทางโรงพยาบาลไม่น้อยที่เดินเท้าเข้ามาแจ้งความได้

ส่วนใหญ่ตกเป็นผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจากการถูกฉ้อโกง ซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ แต่หลังจากนี้ไม่มีตำรวจรถไฟ อยู่ใกล้ๆ อีกแล้ว หากแพทย์และพยาบาล ท่านใดประสบปัญหาอยากปรึกษาพนักงานสอบสวน หลังจากนี้พอออกเวรท่านจะต้องขับรถหรือเรียกรถโดยสารเดินทางไปที่ สน.บางกอกน้อย ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเวลาพักผ่อนก็จะลดน้อยลง

เมื่อทีมข่าวเราถาม มองเรื่องความปลอดภัยบนโบกี้รถไฟหลังจากนี้อย่างไร? หัวหน้าสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ตอบว่า “ยกตัวอย่างแค่บนตู้รถไฟโดยสารสาย วงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่เรารับผิดชอบอยู่ ผมยังคิดภาพไม่ออกว่า ตำรวจท้องที่ซึ่งมีภารกิจล้นมือ กำลังไม่เพียงพอกันอยู่แล้วจะมาช่วยจัดการดูแลเรื่องความปลอดภัยกันยังไง ไหนจะเรื่องขอบข่ายอำนาจการสอบสวนซึ่งรถไฟแล่นไปตามทางเรื่อยๆ

ยังไม่ต้องนึกถึงรถไฟสายยาว อย่างเส้นทาง กรุงเทพมหานคร-สุไหงโกลก ซึ่งใช้เวลาเดินทางกันไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละเที่ยวจะมีตำรวจรถไฟ ปฏิบัติหน้าที่กัน 2 นาย เที่ยวไหนบังเอิญจับกุมคนร้ายได้บนโบกี้ จะมีตำรวจ 1 นาย ที่ต้องลงจากรถไฟนำตัวผู้ต้องหาไปส่งพนักงานสอบสวนท้องที่ที่รับผิดชอบ

จากนั้นต้องเร่งกลับมาขึ้นรถไฟทำงานร่วมกับเพื่อนที่เหลืออยู่อีก 1 นายให้ไวที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของการทำงานเพียงลำพัง เพราะระยะเวลาที่เหลือตำรวจเพียงนายเดียว นั่นไม่ใช่หลักการทำงานทางยุทธวิธี คิดง่ายๆ เอาอย่างนี้ถ้าไม่มีตำรวจประจำการบนรถไฟสายยาว จะให้ตำรวจท้องที่มาร่วมตรวจค้น สกัดจับกุมคนร้ายได้อย่างไร

ในเมื่อรถไฟก็ไม่ได้แวะจอดทุกสถานี ส่วนที่มีแวะจอดบ้างก็ไม่เกินสถานีละ 15 นาที ต้องระดมกำลังตำรวจมากแค่ไหน ถึงจะตรวจค้นได้ทุกโบกี้ ในเวลาที่มีอยู่จำกัดเช่นนี้ ความเห็นส่วนตัวมองว่า การมีตำรวจประจำการบนรถไฟเลย ย่อมสะดวกกว่า เพราะเดินตรวจตราได้ตลอดเวลาที่เราอยู่บนตู้โดยสาร

ก่อนลากลับเราถามว่า รู้สึกอย่างไรหลังตอนนี้สังคมเริ่มตื่นตระหนกหลังรู้ว่าจะไม่มีตำรวจรถไฟ? พ.ต.ต.ไตรรงค์ ให้ข้อคิดกลับมาอย่างน่าสนใจ ว่า “ตั้งแต่ผมทำงานมา ตำรวจรถไฟ มีสถิติการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้เยอะมาก มากเป็นอันดับต้นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยนะ เพราะเรามีอำนาจและระบบที่ใช้ตรวจสอบได้ตั้งแต่ผู้ต้องหาซื้อตั๋วโดยสาร หลังจากนี้ก็ไม่แน่ใจว่าผู้บังคับบัญชากับหน่วยงานที่รับผิดชอบจะหาทางออกยังไง แต่ยืนยันได้ว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยทุกชีวิตและทรัพย์สินบนโบกี้รถไฟ ไม่น่าจะมีหน่วยงานไหนทำได้ดีไปกว่าตำรวจ”.












กำลังโหลดความคิดเห็น