xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากตำรวจรถไฟ ยุบหน่วยงานไปไม่รอด วนกลับมาจ้างตำรวจอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ปิดฉากตำรวจรถไฟ ยุบหน่วยงานไปไม่รอด วนกลับมาจ้างตำรวจอีก



นับแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป เมืองไทยจะไม่มี “ตำรวจรถไฟ” อีกต่อไป เพราะกองบังคับการตำรวจรถไฟ ถูกยุบทิ้งไป ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

แต่ถึงอย่างไร บนรถไฟก็ต้องมีตำรวจ ไม่มีไม่ได้ คำพูดนี้มาจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช หรือบิ๊กก้อง ผบช.ก.

ก่อน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 จะมีผลให้ยุบตำรวจรถไฟ บิ๊กก้องเป็นคนออกโรงค้านเองว่า อย่ายุบ อย่ายุบ

เพราะเห็นว่าหากรถไฟ โดยเฉพาะสายทางไกลทั้งหลาย ไม่มีตำรวจคอยปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้โดยสาร รถไฟขบวนนั้น จะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

ไม่ใช่แค่ค้านไม่ให้ยุบ บิ๊กก้องเห็นว่า ควรเพิ่มจำนวนตำรวจรถไฟให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากยุคนี้ เป็นยุคของการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และจะมีรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นมาอีก ยิ่งต้องมีตำรวจคอยดูแลความปลอดภัย ซึ่งอาจเรียกชื่อว่า “ตำรวจรถราง”

แต่ความเห็นของตำรวจคนเดียว หรือจะทานกระแสหลักได้ นั่นก็คือ การปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งมุ่งลดขนาดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เล็กลง

หวยไปออกที่ กองบังคับการตำรวจรถไฟ ซึ่งเป็นหน่วยงานตำรวจที่ดูเงียบๆ เหงาๆ กว่าตำรวจกองอื่นๆ

กำลังพลจริงที่มีอยู่ 738 นาย ของตำรวจรถไฟ จะถูกโอนย้ายไปตามหน่วยอื่นๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยวาระแต่งตั้งเมื่อปี 2565 ตำรวจ ในระดับ รอง สว. และ ผบ.หมู่ ก็ถูกโยกไปดำรงตำแหน่ง นอก กองบังคับการตำรวจรถไฟจนหมดแล้ว ตามความสมัครใจของตำรวจรถไฟแต่ละนาย

ปรากฏว่าส่วนใหญ่ ขอย้ายกลับภูมิลำเนา แต่บางส่วนขออยู่ในสังกัด บช.ก. ต่อไป

ซึ่งอดีตตำรวจรถไฟ ที่ขอโอนเข้าสอบสวนกลางนี่เอง บิ๊กก้องเตรียมมอบหมายงานตามความความถนัด ซึ่งก็คือ ส่งไปเป็นตำรวจประจำรถไฟตามเดิม

ส่วนระดับ สว. - รอง ผบก. ของตำรวจรถไฟ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีคำสั่งแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งนอก บก.รฟ. ก่อนกำหนด 17 ต.ค. 2566

ซึ่งการที่บิ๊กก้องส่งตำรวจกลับไปคุ้มครองรถไฟตามเดิม ก็ตรงกับกระแสเรียกร้องของประชาชนผ่านสื่อ

ไม่มีผู้ใช้บริการรถไฟคนไหน จะมีคำถามประเภท “ตำรวจรถไฟมีไว้ทำไม” เพราะความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เห็นว่า มี ก็ย่อมดีกว่าไม่มี

ขอให้มีเครื่องแบบตำรวจ เดินฉวัดเฉวียนบนโบกี้รถไฟ แค่นี้ก็ป้องปรามอาชญากรรมได้ระดับหนึ่งแล้ว

ก่อนจะมาถึงวันที่ 17 ต.ค. ก็มีการระดมสมอง จะหาใครที่ไหน มาทำหน้าที่แทนตำรวจรถไฟ มีถึงขั้นแนวคิดจะไปจ้าง รปภ.เอกชน มาประจำการบนรถไฟ

แต่แนวคิดนี้ถูกตีตกไป เหตุเพราะขีดความสามารถของ รปภ. ไม่พอกับการรับมือเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นบนรถไฟ

ข้อสรุปจึงวนมากลับมาที่ตำรวจ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำบันทึกเอ็มโอยูร่วมกับ บช.ก. ไปแล้ว ให้ บช.ก. รับผิดชอบ หากำลังพล มาปฏิบัติหน้าที่แทนตำรวจรถไฟเดิม

ไปๆมาๆ การผ่าตัดองค์กรตำรวจให้เรียวลง ด้วยการยุบทิ้งหน่วยงานตำรวจรถไฟ สุดท้าย ก็ต้องจัดหาตำรวจจากที่อื่น ให้ไปอยู่บนรถไฟอยู่ดี

ในอดีตที่ผ่านมา ตำรวจรถไฟเคยมัวหมองอย่างหนัก เมื่อปี 2557 เกิดคดีฆ่าข่มขืนเด็กสาววัย 13 ปี ในตู้นอนรถไฟสายใต้ แล้วคนร้ายจับร่างเปลือยของเธอ โยนทิ้งออกนอกหน้าต่างรถไฟ โดยไม่มีใครรู้เห็น

ตำรวจรถไฟ ต้องกลายไปเป็นลูกมือของตำรวจหน่วยอื่น ในการสืบสวนหาตัวคนร้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อจับตัวไอ้บ้ากามรายนี้ได้ คนที่โดนด่าหนักกว่าตำรวจรถไฟ กลายเป็นการรถไฟฯ

เพราะว่าคนร้ายดันเป็นพนักงานรถไฟ ซึ่งเสพยาบ้าไปทำงานไป แถมดวดเบียร์จนเมาเละ

เหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่การปฏิรูปบริการบนรถไฟ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนตู้เสบียง มาจนทุกวันนี้

แต่เหตุคนเมาสุราอาละวาดบนโบกี้รถไฟ ก็ยังมีเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้ ตำรวจรถไฟจะเป็นตัวหลักในการระงับเหตุ

อีกงานต้องที่ทำต้อง คือ คอยตามจับพวกโจรขโมยเหล็กรางรถไฟไปชั่งกิโลฯ ขาย รวมถีงตรวจค้นสกัดจับการลำเลียงยาเสพติดด้วยรถไฟ

หากเทียบเคียงไปยังประเทศอังกฤษ ที่ใช้รถไฟเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญแล้ว จะเห็นว่า อังกฤษคุ้มครองระบบขนส่งมวลชนทางรางของเขา ด้วยตำรวจรถไฟเกือบ 3,000 นายเลยทีเดียว

-------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น