xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ. ประธานในพิธีวันสถาปนากรมราชทัณฑ์ ครบ 108 ปี มุ่งมั่นแก้ไขผู้ต้องขังไม่หวนทำผิดซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 108 ปี กรมราชทัณฑ์ ชูนโยบาย 8 มิติ ขับเคลื่อนนโยบายปรับพฤตินิสัยผู้ต้องขังคืนสู่สังคม

วันนี้ (11 ต.ค.) ณ อาคารกรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมราชทัณฑ์ ประจำปี 2566 ครบรอบ 108 ปี (13 ตุลาคม 2566) พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม , นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมในพิธี 


โดยมี พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมราชทัณฑ์ 6 จุด พิธีพราหมณ์บวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ จำนวน 37 รางวัล

โดยแต่เดิมมา การเรือนจำทั้งหลายในประเทศไทยได้แยกย้ายกันสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ มากมายหลายแห่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมการคุกกองมหันตโทษ และลหุโทษ กับเรือนจำทั้งหลายที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) ขึ้นเป็นกรมหนึ่ง เรียกว่า “กรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2458 เพื่อระลึกถึงความสำคัญของงานราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนากรมราชทัณฑ์ สำหรับปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยจะมีการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมราชทัณฑ์ รวมถึงพิธีวางพานพุ่มหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

โดยในปีงบประมาณ 2567 ภายใต้การบริหารของ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหาร และผู้บัญชาการเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศ ซึ่งได้วางแนวทางและนโยบายเน้นหนักไว้ 8 มิติ ประกอบด้วย  

มิติที่ 1 การดำเนินการโครงการพระราชทาน อาทิเช่น โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ โครงการกำลังใจในพระดำริฯ โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา โครงการ To Be Number One และโครงการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม

มิติที่ 2 ยกระดับความมั่นคง ป้องกันและปราบปรามสิ่งของต้องห้าม สร้างความปลอดภัยในเรือนจำ
ทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัย และนำเทคโนโลยีมาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน และให้ความสำคัญกับการฝึกวินัยให้กับผู้ต้องขัง

มิติที่ 3 พัฒนาระบบการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักทัณฑวิทยา ยกระดับ
การดูแลสุขอนามัย การแยกคุมขัง และยกระดับ/ขยายผลการปฏิบัติตามหลัก Mandela Rules (ข้อกำหนดแมนเดลา) และ Bangkok Rules (ข้อกำหนดกรุงเทพ) รวมทั้งมาตรฐานสากลเพื่อสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขัง ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ ปัจจัยเชิงบวก และเรือนจำเฉพาะทาง

มิติที่ 4 พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้ตรงกับสภาพปัญหาของการกระทำความผิด โดยเร่งออกกฎกระทรวงการกำหนดมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด พ.ศ..... ตาม พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในคดีที่เกี่ยวกับเพศ พัฒนาการจำแนก ค้นหาสภาพปัญหา สาเหตุ พร้อมพัฒนาโปรแกรมบำบัดต่างๆ ให้มีความเฉพาะทางและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละกลุ่มหรือประเภทของการกระทำผิด สร้างบรรยากาศภายในเรือนจำให้เอื้อต่อความสุข 
ร่วมเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง

มิติที่ 5  พัฒนาต่อยอดการศึกษาสายสามัญที่มีคุณภาพและตรงตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมการฝึกอาชีพ ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่ตรงกับความรู้ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแรงงาน โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ

มิติที่ 6 พัฒนาระบบเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและช่วยเหลือหลังพ้นโทษ โดยการสร้างความพร้อมให้กับผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษให้สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ทั้งด้านการศึกษาและฝึกวิชาชีพ พร้อมยกระดับ Care Support ให้สามารถสนับสนุนการมีงานทำให้กับผู้พ้นโทษ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ เข้าช่วยเหลือ ดูแลผู้พ้นโทษอย่างเป็นองค์รวม

มิติที่ 7 ยกระดับการสร้างการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นของผู้ต้องขังต่อสังคม โดยการเผยแพร่ รณรงค์ สร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าของผู้ต้องขังที่สมควรให้โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข เฉกเช่นเดียวกับพลเมืองโดยทั่วไป

มิติที่ 8 พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนงานราชทัณฑ์ โดยยึดหลักคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล ให้ความสำคัญกับการมอบอำนาจในการบริหารงาน เร่งดำเนินการจัดการสำนวนดำเนินการทางวินัยเจ้าหน้าที่ ที่คงค้างให้แล้วเสร็จ พัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง สร้างขวัญกำลังใจในด้านสวัสดิการและนันทนาการ รวมถึงเร่งแก้ไขปัญหา การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง เพื่อทดแทนอัตราว่างให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาระบบสารสนเทศ และระบบ AI มาใช้ในการจำแนก การประเมินความเสี่ยงและพฤติกรรมของผู้ต้องขัง เพื่อการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น

โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงมุ่งมั่นแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม สร้างความสงบสุขให้แก่สังคมและประเทศชาติของเรา เพราะเรือนจำไม่ใช่สถานที่ ที่มีไว้กักขังลงโทษเท่านั้น แต่เป็นที่ ที่ช่วยอบรมผู้กระทำผิด ให้กลับตัวเป็นคนดีและเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติของเราต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น