‘วัชรินทร์’รองโฆษก อสส.ยันคดี’อัจฉริยะ’เเจ้งความ อธิบดีอัยการอาญาใต้ กลั่นเเกล้งผิดม. 157 เชื่อ อสส.ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ชี้กฎหมายคุ้มครอง สั่งคดีถูกต้องตามพยานหลักฐาน และไม่ตัดสิทธิ์อัยการดำเนินคดีกลับเเจ้งความเท็จ
วันนี้ (10 ต.ค.) นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนและรองโฆษกสำนักงานอัยการการสูงสุด กล่าวถึงกรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เดินทางไปยัง กองบก.ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 และพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนกรณี มีคำสั่งฟ้องนายอัจฉริยะ เป็นจำเลยความผิดฐานหมิ่นประมาท ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานอัยการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา157และมาตรา 200 ในการร่วมกันกลั่นแกล้งผู้อื่นให้รับโทษทางอาญา
ซึ่งตนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฎว่าเป็นเรื่องการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนซึ่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีคำสั่งฟ้องและเสนอ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้
โดยนายอัจฉริยะยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้าไป เเต่อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณาคำสั่งฟ้อง ของอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เเละเห็นพ้องด้วย อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 จึงมีคำสั่งฟ้องคดี นายอัจฉริยะจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดคนที่แล้ว
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการสั่งฟ้องคดีของอัยการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 248 รับรองในการสั่งคดีที่เป็นอิสระชอบด้วยกฎหมาย อัยการผู้สั่งคดีจึงต้องรับผิดชอบในการใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย ถ้าสั่งคดีที่ถูกต้องตามพยานหลักฐานก็จะได้รับความคุ้มครองทั้งทางวินัยและทางอาญา อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวนี้เมื่อปรากฎเรื่องขึ้นมา ทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และพนักงานอัยการผู้ที่ถูกกล่าวหาก็จะต้องชี้แจงรายละเอียดในการสั่งคดีให้ทางอัยการสูงสุดคนปัจจุบันได้รับทราบ ในทางคดีนายอัจฉริยะก็ต้องต่อสู้คดีตามกฏหมาย ส่วนทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และพนักงานอัยการที่ถูกกล่าวหาก็ต้องต่อสู้ในทางคดีต่อไปอัยการสูงสุดจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายโดยภายใต้พยานหลักฐาน
เมื่อถามว่า อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และอัยการผู้ที่ถูกกล่าวหามีสิทธิ์จะร้องทุกข์กล่าวโทษนายอัจฉริยะฐานแจ้งความเท็จได้หรือไม่
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ กับพนักงานอัยการที่ถูกนายอัจฉริยะกล่าวหา ถ้าเห็นว่าการกระทำของนายอัจฉริยะเป็นการแจ้งความเท็จทำให้ตนเองเสียหายอันนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้และอัยการที่ถูกกล่าวหาจะใช้สิทธิ์หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้แจ้งความเอาผิด 3 อัยการอาญากรุงเทพใต้ สืบเนื่องจากกรณีที่"ทนายตั้ม" แจ้งความดําเนินคดีในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เมื่อปี 2564 หลังจากที่นายอัจฉริยะ ได้ไปพูดออกรายการโทรทัศน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยมีการพาดพิงถึงทนายตั้มว่า “โง่”
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้นายอัจฉริยะไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ตนได้ให้การปฏิเสธ โดยระบุว่าข้อความดังกล่าวถือเป็นการดูหมิ่นด้วยการโฆษณาและคดีหมดอายุความ 1 ปีไปแล้ว แต่ปรากฏว่าพนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ มีความเห็นสั่งฟ้อง อัจฉริยะจึงร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้ออกหมายเรียกอีกครั้งเพื่อรับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ต่อมาพนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยนายอัจฉริยะมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกลั่นแกล้ง บรรยายฟ้องเกินความเป็นจริง จึงเดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตํารวจ บก.ปปป. เพื่อดําเนินคดีจนถึงที่สุด