อัยการยื่นมือช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งยื่นจัดการมรดก-บุคคลสูญหาย ในภาวะสงคราม แก่ญาติ จากเหตุการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่คร่าชีวิตแรงงานไทย 12 ราย
วันนี้ (10 ต.ค.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทรยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความสูญเสียของแรงงานคนไทย จำนวน 12 ราย ที่อิสราเอล สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์ระหว่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเสียชีวิต สาปสูญ หาตัวไม่พบหรือผู้ตาย มีทรัพย์สินที่ทายาท ต้องร้องจัดการมรดกเพื่อให้ทายาท รับโอนทรัพย์สิน บ้าน ที่ดิน เงิน ให้ชีวิตทุกคนต้องเดินต่อไปได้ แต่การร้องจัดการมรดก ร้องขอให้เป็นคนสาบสูญ ทั้งนี้การยื่นคำร้องต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนา ต้องเริ่มต้นด้วยใบมรณบัตรเอกสารจากอิสราเอล
เมื่อถามว่า การเสียชีวิตในต่างประเทศ หรือ สาปสูญหายตัวไปในสภาวะสงคราม จะต้องทำอย่างไรบ้าง
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า อัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนระหว่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก้ปัญหาการทำธุรกรรมต่างๆตามกฏหมายได้
โดยร้องจัดการมรดกให้ฟรี ครอบครัวทายาทของผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายจากภัยสงครามในอิสราเอลให้ทายาท ติดต่ออัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนใกล้บ้านมีทุกจังหวัด อัยการจะได้ประสานกับอัยการคุ้มครองสิทธิ์ระหว่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกดำเนินการให้แก่ประชาชนที่ครอบครัวประสบภัยสงครามในอิสราเอล หรือโทร ปรึกษาอัยการสายด่วน 1157 หรืออัยการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนระหว่างประเทศโทร 02-1421532
สำหรับหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว