xs
xsm
sm
md
lg

“กรมคุก” สำรวจผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง “สูงอายุ-พิการ-ป่วย” มีนับหมื่นราย ยันดูแลตามสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ราชทัณฑ์ แจงสถานการณ์สุขภาพผู้ต้องขังและการดูแลผู้พิการ เจ็บป่วย สูงอายุ ตามหลักสิทธิหลักประกัน หวังให้โอกาสกลับสู่สังคมเล็งใช้รูปแบบการบริหารโทษอื่นแทน

วันนี้ (9 ต.ค.) กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารข้อมูล โดยระบุว่า “7 ข้อเท็จจริงข้อมูลหลังกำแพงที่อยากให้สังคมรับรู้ เรื่องที่ 2 : สถานการณ์สุขภาพผู้ต้องขังและการดูแลผู้พิการ เจ็บป่วย สูงอายุ “อโรคยา ปรมา ลาภา” เป็นพุทธพจน์ประโยคหนึ่งในภาษาบาลี แปลความหมายได้ว่า การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยล้วนต้องการ ไม่เว้นแต่ผู้ต้องขังที่ใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงก็เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้คือการสร้างเสริมป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพให้ลดน้อยลง โดยเฉพาะในผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขังพิการ เจ็บป่วย หรือสูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลและเฝ้าระวังในเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มผู้ต้องขังทั่วไป

จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 200,000 กว่าคน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2566) กรมราชทัณฑ์มีจำนวนผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย ผู้ต้องขังสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวม 6,196 คน เป็นชาย 5,210 คน หญิง 986 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี อยู่จำนวน 1,158 คน (ชาย 998 คน หญิง 160 คน) หรือเกือบ 20% จากประชากรผู้ต้องขังสูงอายุทั้งหมด โดยผู้ต้องขังชาย อายุมากที่สุด 94 ปี ผู้ต้องขังหญิงอายุมากที่สุด 87 ปี

ผู้ต้องขังพิการ (มีบัตรผู้พิการ) จำนวน 3,770 คน เป็นชาย 3,396 คน หญิง 374 คน

ผู้ต้องขังป่วยติดเตียง จำนวน 131 คน เป็นชาย 121 คน หญิง 10 คน

ผู้ต้องขังโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) หรือผู้ต้องขังที่บำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้อง (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD) จำนวน 139 คน

ผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายหรือลุกลาม จำนวน 123 คน

ผู้ต้องขังป่วยด้วยโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์สมองพิการ จำนวน 27 คน

ผู้ต้องขังภูมิคุ้มกันบกพร่องระยะที่มีโรคแทรกซ้อนแสดงอาการร้ายแรง จำนวน 84 คน

ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 137 คน และเด็กติดมารดา 71 คน

กรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่แรกรับตัว โดยมีการคัดกรองผู้ต้องขังทุกรายทั้งในเรื่องโรคติดต่อ และโรคเรื้อรัง ซึ่งหากมีโรคประจำตัวเรื้อรังจะได้รับการตรวจรักษาและรับประทานยาต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้มีการแยกพื้นที่การควบคุมผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง ให้อยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สามารถให้การดูแลและเฝ้าระวังโรคได้อย่างใกล้ชิด มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต ผู้ต้องขังพิการ จะได้รับกายอุปกรณ์ และจัดให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ เมื่อถูกควบคุมตัวจะได้รับการฝากครรภ์ และตรวจสุขภาพเป็นระยะจนถึงวันคลอด รวมทั้งมีการส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับทารกจะได้รับการตรวจสุขภาพ และวัคซีน ซึ่งกลุ่มเปราะบางทุกคนจะได้รับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค 
การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แม้ว่ากรมราชทัณฑ์ จะดำเนินการเรื่องการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังให้ครอบคลุมเพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย หรือลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป แต่ข้อจำกัดในเรื่องความแออัดของจำนวนผู้ต้องขัง โครงสร้างทางกายภาพของเรือนจำ จำนวนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งภายในเรือนจำผู้ต้องขังทั้งหมดต้องอาศัยสถานพยาบาลภายในเรือนจำเป็นหลักในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น หากผู้ต้องขังกลุ่มเปราะบาง มีโอกาสในการกลับสู่สังคมได้เร็วขึ้น โดยใช้รูปแบบการบริหารโทษแบบอื่นๆ ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด อาจส่งผลดีทางด้านจิตใจจากการได้รับการดูแลและได้รับกำลังใจจากครอบครัว รวมทั้งเข้ารับการรักษาตามระบบบริการสุขภาพจากหน่วยงานสาธารณสุขภายนอก


กำลังโหลดความคิดเห็น