xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ฟ้องศาลแพ่งให้เพิกถอนมติ ก.ต.ให้ออกจากราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายอรรถพร เพชรแก้ว อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดยะลา
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลในจังหวัดยะลา ฟ้อง ก.ต.เพิกถอนมติให้ออกจากราชการอ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม เรียกค่าเสียหาย 1 ล้านกว่าบาท ศาลแพ่งนัดพิจารณาครั้งแรก 18 ธ.ค.นี้

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 ต.ค.2566 นายอรรถพร เพชรแก้ว อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดยะลา ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานศาลยุติธรรม,อดีตประธานศาลฎีกา กับพวกรวม 17 คน เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่ 1/2566 ที่ให้ออกจากราชการ และละเมิดเรียกค่าเสียหายจำนวน 1.1ล้านบาทเศษ
คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อระหว่างปี 2557 ถึงเดือน ก.ย.2558 สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 1 ,อดีตประธานศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำการจงใจหรือประมาณเลินเล่อใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยประกาศ ข้อบังคับและระเบียบของสำนักงานศาลยุติธรรม ทำให้ได้รับความเสียหายแก่สิทธิในการรับราชการของโจทก์หลายครั้ง กล่าวคือ เมื่อปี 2557 ขณะที่โจทก์รับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลา มีข้าราชการตุลาการรับราชการเป็นผู้พิพากษาในศาลเดียวกันกับโจทก์ มีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องส่วนตัว ทำหนังสือร้องเรียนเป็นหนังสือสนเท่ห์ไม่ลงลายมือชื่อ อ้างว่าโจทก์ใช้ดุลยพินิจพิพากษาคดีไม่มีมาตรฐาน ช่วยเหลือจำเลย ก้าวก่ายใช้ดุลยพินิจในสำนวนคดีของผู้พิพากษาคนอื่น ใช้ดุลยพินิจพิจารณาลดโทษคดียาเสพติด โดยใช้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 โดยไม่ชอบ รวมถึงเรื่องทุจริตทั้งที่ไม่เป็นความจริงและผู้พิพากษาที่ร้องเรียนไม่ใช่คู่ความในคดีที่ได้รับความเสียหาย

ต่อมาจึงมีหนังสือแจ้งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ซึ่งเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้นเพื่อให้ได้รับความจริงและเป็นธรรม โดยไม่ชักช้าแล้วรายงานผลให้ สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 1 ทราบ ตามสำเนาหนังสือลับที่ ศย 0003/58237 ลงวันที่ 31 ต.ค.2557 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 จึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2544 มาตรา 68 วรรคหนึ่งประกอบ ประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย โดยแต่งตั้งผู้พิพากษาภายในภาค 9 รวมทั้งหมด 3 คน เป็นผู้ดำเนินการสอบสวน ต่อมาคณะผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งดำเนินการสอบสวนแล้ว เห็นว่าไม่ปรากฏว่าการกระทำของโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่หรือขาดความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนข้อบกพร่องต่างๆ อยู่ในภาวะปรับปรุงแก้ไขได้ เห็นสมควรให้ยุติการสอบสวน ตามหนังสืออธิบดีผู้พิพากษา ภาค 9 ที่ ศย.309.001/26 ลงวันที่ 8 ธ.ค.2557

แต่กลับมีการส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำศาลทุกชั้นศาล (อ.ก.ต.)พิจารณาทบทวนความเห็นผลการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ส่งเรื่องมา ทั้งที่ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวตามกฎหมาย เนื่องจากคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ มีอำนาจเฉพาะการกระทำใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 47 เท่านั้น กระทั่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ มีมติลงความเห็นว่า การปฏิบัติราชการของโจทก์มูลกระทำผิดวินัยตามที่ร้องเรียน ทั้งที่การรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลร้ายแก่โจทก์ ไม่มีการตรวจสอบความเห็นของคณะกรรมการที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตั้งขึ้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร อีกทั้งไม่ยอมเรียกคณะผู้พิพากษาที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มาทำการสอบถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงรอบด้านและไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ผู้ถูกกล่าวหาเข้าทำการชี้แจงข้อเท็จจริง กลับอ้างความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมฯ ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และภายหลังที่ประชุมก.ต.ที่ 1/2566 มีมติลงความเห็นว่าโจทก์กระทำผิดวินัยร้ายแรง และถูกให้ออกจากราชการ แต่ยังได้รับบำนาญ

การกระทำทั้งหมดของจำเลยทั้งหมด เป็นการใช้ดุลยพินิจในการการใช้วิธีปฏิบัติราชการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อออกคำสั่งทางปกครองทั้งที่โจทก์ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,119,375.59 บาท

ซึ่งคดีนี้เป็นการเพิกถอนมติคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องห้ามมิให้นำคดีไปฟ้องศาลปกครอง จึงต้องนำคดีมาฟ้องศาลแพ่งในวันนี้

ทั้งนี้ศาลแพ่งได้รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ4889/2566 และนัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 18 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

โดยรับฟ้องเฉพาะสำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 5 (1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่รับฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17
กำลังโหลดความคิดเห็น