xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : กราดยิงกลางเมือง ปัญหาวัวหายล้อมคอก จะไม่จบที่สยามพารากอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566 ตอน กราดยิงกลางเมือง ปัญหาวัวหายล้อมคอก จะไม่จบที่สยามพารากอน



ในรอบทศวรรษมานี้ประเทศไทยเผชิญกับความไม่ปกติและวิกฤติการณ์ต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศไทยมหาศาล และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่เวลานี้ประเทศไทยกำลังถูกท้าทายด้วยปัญหาทางสังคมและอาชญากรรมแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนอย่างเหตุการณ์กราดยิงในพื้นที่สาธารณะ

ถ้าเราไม่นับเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้ก่อความไม่สงบสร้างสถานการณ์ไม่เว้นแต่ละวันแล้ว จะพบว่านับตั้งแต่ปี 2563 - 2566 ได้เกิดเหตุการณ์กราดยิงมาแล้วถึง 4 ครั้ง ได้แก่

1.เหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 มีผู้เสียชีวิต 3 คน 2.เหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้เสียชีวิต 31 คน 3.เหตุสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีผู้เสียชีวิต 38 คน และ 4.เหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีผู้เสียชีวิต 3 คน

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าสำหรับประเทศไทยเริ่มมีความถี่ในการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันมากขึ้นทุกขณะ

หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมีมูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุแตกต่างกันไป เช่น กรณีจังหวัดนครราชสีมาเกิดมาจากความไม่เป็นธรรมภายในกองทัพ ที่จนถึงทุกวันนี้กองทัพก็ยังไม่เคยมีการแถลงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่ประการใด

หรือ ในกรณีของจังหวัดหนองบัวลำภู พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศูนย์พัฒนเด็กเล็ก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก โดยผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจก่อนที่จะปลิดชีวิตตัวเองในเวลาต่อมา จนทำให้ถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ประชาคมโลกต่างจับจ้องมองมาที่ไทย

ขณะที่ เหตุการณ์ล่าที่สุดสยามพารากอนพบว่าผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชนอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น แม้ทางตำรวจจะยังไม่สรุปถึงมูลเหตุจูงใจชัดเจน เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ทำให้การสอบสวนจะต้องดำเนินการร่วมกับกลุ่มสหวิชาชีพด้วยความรอบคอบ

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ภาครัฐถูกตั้งคำถามถึงแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชน

คำถามแรกที่ถูกถามแรงๆมาโดยตลอด คือ การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองของผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรที่ในกรณีของเยาวชนอายุ 14 ปีถึงสามารถเข้าถึงอาวุธปืนและไว้ในครอบครอง โดยพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย

เนื่องจากอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นอาวุธปืนชนิดแบลงค์ ซึ่งอาวุธประเภทดังกล่าวไม่ได้ถือเป็นอาวุธตามกฎหมาย แต่ที่นำใช้ก่อเหตุจนถึงแก่ชีวิตได้นั้นเป็นเพราะมีการดัดแปลงเพื่อใช้กับกระสุนจริง

นอกจากคำถามถึงเรื่องการครอบครองอาวุธของผู้ก่อเหตุที่เป็นเยาวชนแล้ว อีกปมที่สังคมกำลังสงสัยคงหนีไม่พ้นเรื่องสภาพแวดล้อมและครอบครัวเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ หรือไม่

อย่างไร เนื่องจากผู้ก่อเหตุมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีและกำลังศึกษาในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ผู้ปกครองของผู้ก่อเหตุก็เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งตำรวจเองก็เริ่มตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงไปถึงการมีพฤติกรรมเลียนแบบจากการเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ

ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง โดยทุกครั้งผู้ที่มีอำนาจก็มักจะให้สัญญากับประชาชนจะนำมาเป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงเกิดเหตุการณ์อุกอาจที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บถึง 4 ครั้ง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างไร หรือ จะเป็นเพียงแค่วัวหายแล้วล้อมคอกเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุการณ์ที่สยามพารากอน คงไม่ใช่การกราดยิงครั้งสุดท้าย

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 eบาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น