xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาล แจงขั้นตอน ตร.ส่งมือกราดยิง ต่อศาลใน 24 ชม. เพื่อตรวจสอบการจับกุม ส่วนพ่อแม่ อาจต้องรับผิดทางแพ่งด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



โฆษกศาล แจงขั้นตอน ตร.ส่งมือกราดยิงในห้างพารากอน ต่อศาลใน 24 ชม. เพื่อตรวจสอบการจับกุม เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนพ่อแม่ อาจต้องรับผิดทางแพ่ง ชดใช้ค่าเสียหายด้วย

วันนี้ (4 ต.ค.) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีกับ เยาวชนชายอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างดัง มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเยาวชนแล้ว จะต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นการจับกุมเด็ก หรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเรียกว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบการจับ และศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะควบคุมตัว หรือส่งไปสถานที่ใด หรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร โดยจะพิจารณาพฤติกรรมของเยาวชนจากรายงานการจับกุมของพนักงานสอบที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณา เช่น ศาลจะดูว่าเด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิต การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องใส่ไว้ในรายงานให้ศาลพิจารณา

“การตรวจสอบการจับพนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย และศาลอาจจะไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมถึงข้อมูลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนใส่มาในรายงานการจับกุม จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่า จะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ก่อเหตุหรือไม่”

ส่วนกรณีของเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตนั้น หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ ก็จะให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่างๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ ก็อาจจะให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็ก ดูแลแทน หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่า รุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม
สำหรับด้านคดีความ ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าเด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี ได้รับการยกเว้นโทษ ไม่นำโทษจำคุกมาใช้กับเด็กและเยาวชน แต่ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการ หรือวางข้อกำหนดให้พ่อแม่ควบคุมดูแลเด็ก ไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หรืออาจส่งตัวไปสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามพฤติการณ์ของเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 คดี มีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน ศาลอาจจะใช้มาตรการที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คน

ในส่วนของพ่อแม่เด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่อาจจะต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ได้ว่า ใช้ความระมัดระวังในการดูแลแล้ว

ด้านนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายก และรองโฆษกสภาทนายความฯ ได้แสดงความเห็นกรณีเหตุยิงกราดว่า คดีนี้ผู้กระทำยังเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ซึ่งตาม ป.อาญามาตรา74 ระบุว่า การกระทำที่กฎหมายบัญญัติ ว่าการลงมือกระทำผิดอาญาโดยเด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี นั้น เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และศาลมีอำนาจไม่ส่งตัวเด็กไปควบคุมที่สถานพินิจ แต่จะกำหนดเงื่อนไขตาม มาตรา 56 ให้ผู้ปกครองปฎิบัติคือในวรรคสามบอกว่า ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้ผู้ปกครองศาลอาจกำหนดให้ตั้งเจ้าพนักงานคุมประพฤติควบคุมติดตามดูพฤติการณ์เด็กก็ได้ แต่ถ้าศาลจะไม่ใช้วิธีนี้ก็ส่งตัวเข้าสถานพินิจไป เหตุการณ์เด็กกระทำผิดร้ายแรงครั้งนี้ไม่ใช่คดีแรก แต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว ขณะที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กไม่ให้ต้องรับโทษแต่จะมีมาตรการสำหรับเด็กแทน

ที่น่าเป็นห่วงคือการเสนอข่าวของสื่อโซเชี่ยลโดยนักข่าวพลเมือง รวมทั้งสื่อหลักบางแห่งเสนอภาพ รูปร่าง ที่อยู่ ชื่อของบุคคลที่เข้าถึงตัวเด็กได้ จะมีกฎหมายสองฉบับคุ้มครองเด็กอยู่ คือ 1.คุ้มครองความเป็นเด็กคือพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2539 กับ 2. คุ้มครองในฐานะเขาเป็นผู้ต้องหาตามป.อาญา พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชน และป.วิ อาญา ที่กฎหมายไม่ยอมให้เปิดเผยถึงตัวเด็ก แต่ก็ยังมีการละเมิดกฎหมายอยู่ซึ่งต้องตระหนักให้มาก แต่ในทางกลับกัน กฎหมายจะไปมุ่งลงโทษผู้ปกครองที่ทอดทิ้งหรือปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนไปทำละเมิดคนอื่น คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 23,25,26 ซึ่งมีอัตราโทษสูง

เมื่อถามประเด็นว่าเด็กอาจเป็นโรคจิตจะได้รับการคุ้มกันโดยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องย้อนไปดูต้นตอของปัญหาว่า พ่อแม่ ได้ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหรือไม่ เด็กไม่ใช่สินทรัพย์ของพ่อแม่ที่จะเลี้ยงดูด้วบการตามใจซื้อข้าวของให้ แต่ต้องให้ความใกล้ชิดและเอาใจใส่

เมื่อถามว่าหากเด็กติดเกมส์รุนแรง เป็นต้นเหตุจะแก้อย่างไร ประเทศเราเป็นเสรีนิยม การจะแก้ไขออกกฎหมายก็ต้องระวังเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ขอให้ดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เขามีกฎหมายจำกัดเวลาใช้สื่อโซเชี่ยลของเด็กไว้อย่างเข้มงวด ขณะที่ประเทศไทยยังปล่อยเสรีในเรื่องนี้ ไม่มีการแก้ไขกฎหมาย

ทั้งหมดนี้เราต้องมาชั่งน้ำหนักของคำว่าสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิไตย กับเหตุรุนแรงจากการกระทำของเด็กเช่นคดีนี้ เมื่อวานองค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาแถลงการน์ มีอาลัยฝ่ายผู้สูญเสียสั้นๆ แต่อีกสี่บรรทัดบรรยายถึงการคุ้มครองฝ่ายผู้กระทำ ขอให้ออกแถลงการณ์ไปทางฝ่ายที่ต้องสูญเสียบ้างเพื่อให้ฝ่ายที่กระทำได้ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคม

ส่วนเรื่องปืน ถ้าปืนมีทะเบียนของพ่อแม่ผู้ปกครองทีากฎหมายแพ่ง ให้ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของเด็กเพราะปล่อยให้เด็กเข้าถึงปืนได้อย่างไร แต่ถ้าเด็กซื้อปืนออนไลน์ ก็ฝากผบ.ตร.คนใหม่ให้กวดขัน โดยให้ตำรวจไซเบอร์ติดตามจับกุมผู้ขายผู้ซื้ออย่าจับแต่เว็บพนันเท่านั้น เชื่อว่าตำรวจมีฝีมือติดตามจับได้ไม่ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น