MGR Online - กรมบังคับคดี ร่วม กยศ. ช่วยลูกหนี้ กยศ. ในชั้นบังคับคดี ปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาผ่อนชำระ ลดความเดือดร้อน
วันนี้ (28 ก.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี และในฐานะโฆษกกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของ กรมบังคับคดี เนื่องจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ที่ได้บังคับคดีกับทรัพย์สินของลูกหนี้ กยศ. ซึ่งมีจำนวน 46,458 คดี เป็นทุนทรัพย์ 6,680,717,342.68 บาท
นางเพ็ญรวี เผยว่า ในการนี้ กยศ.ได้มีหนังสือถึงกรมบังคับคดี เพื่อขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีที่ กยศ. ได้ยึดทรัพย์ไว้ทุกคดี ซึ่งกรมบังคับคดีได้กำหนดเรื่องการช่วยเหลือและการให้โอกาสกับลูกหนี้ กยศ. เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงได้แจ้งให้สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศดำเนินการให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยหาก กยศ. ได้แถลงงดการบังคับคดี โดยมิได้นำส่งหนังสือแสดงความยินยอมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมาให้ความยินยอม
“ในการที่ กยศ. แถลงของดการบังคับคดีไว้ เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น หากลูกหนี้ กยศ. ที่ได้รับหมายแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีในการให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี หรืองดการขายทอดตลาด สามารถไปติดต่อสำนักงานบังคับคดีทุกแห่งทั่วประเทศในการให้ความยินยอมดังกล่าว”
การดำเนินการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมบังคับคดีและ กยศ. เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในการถูกบังคับคดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดให้การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่ง ในโครงการ Quick Win ของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ส่วนกรอบขยายระยะเวลาผ่อนชำระ กยศ. เป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาและจัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2566 เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวต่อไป