ผลสอบชี้ชัด พ.ต.อ.วชิรา ไม่ผิด ม.157 ไม่มีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ชี้พบช่วยเหลือ “สารวัตรศิวกร” หลังถูกยิง จ่อเรียกตำรวจ 15 นายรับทราบข้อหาเว้นการปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (26 ก.ย.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.รักษาราชการแทน ผบก.ทล., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป. ช่วยราชการ รอง ผบก.ทล., พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท./โฆษก บช.ก., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.5 บก.ป. และ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป., แถลงข่าวความคืบหน้าทางคดีจากกรณี นายธนัญชัย อายุ 45 ปี หรือ "หน่อง ท่าผา" ลูกน้องคนสนิท นายประวีณ หรือ กำนันนก ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร หรือ สว.ศิว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เสียชีวิต และ พ.ต.ท.วศิน รอง ผกก.2 บก.ทล. ได้รับบาดเจ็บ ในพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อช่วงดึกวันที่ 6 ก.ย.66 ต่อมา ศาลได้ออกหมายจับ นายธนัญชัยฯ ในความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น” และออกหมายจับ นายประวีณฯ ในความผิดฐาน “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น” ทางสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เห็นแล้วว่า เป็นคดีที่เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพล เป็นคดีอุกฉกรรจ์ เป็นคดีสะเทือนขวัญที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และในวันที่ 7 ก.ย.66 กองบังคับการปราบปราม ได้รับโอนสำนวนคดีฆ่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอิทธิพลหรือคนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแทรกแซงได้ในเรื่องนี้
จากการสืบสวนพบว่า มีข้าราชการตำรวจ 6 คน ที่ไปร่วมงานวันเกิดเหตุ ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และซุกซ่อนทำลายพยานหลักฐาน เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 จึงได้ขอศาลอนุมัติหมายจับ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตำรวจ 6 คนดังกล่าว กองบังคับการปราบปราม รวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ทั้งคดีฆ่า และคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ป.อาญา มาตรา 157) ล้วนเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ต่อมาวันที่ 14 ก.ย.66 ทางชุดคณะทํางานของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ จึงได้โอนสำนวนการสอบสวนมาที่กองบังคับการปราบปรามให้มีอํานาจสอบสวนฝ่ายเดียว ซึ่งในวันที่ 18 ก.ย.66 ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้แถลงข่าวไขข้อสงสัยในประเด็นการโอนสำนวน, สำนวนคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในที่เกิดเหตุกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157, แนวทางการสืบสวนและการทำงาน และแถลงความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ ให้แก่สื่อมวลชน
หลังจากที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้มีการเร่งรัดประชุมหารือกับทางคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในวันนี้ (26 ก.ย.2566) จึงขอแจ้งความคืบหน้าทางคดีดังนี้
1. กำนันนก เข้ามอบตัววันที่ 7 ก.ย.66 ฝากขังที่ศาลอาญา เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการฝากขังครั้งที่ 2
2. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 โอนการฝากขังและโอนตัวผู้ต้องหาไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และเรือนจำพิเศษสมุทรสงคราม ได้ย้ายตัวผู้ต้องหามาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการฝากขังครั้งที่ 2
3. ประเด็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 กรณีมีภาพข่าวที่ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหลายนาย ไปร่วมงานในวันเกิดเหตุ ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ตรวจสอบแล้วพบว่า ในวันเกิดเหตุมีข้าราชการตำรวจ ไปร่วมงาน จำนวน 29 คน ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริง ประกอบพยานหลักฐาน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จำนวน 2 คน
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา มีจำนวน 6 คน ซึ่งถูกออกหมายจับดำเนินคดีและนำตัว
ไปฝากขังแล้วก่อนหน้านี้
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยทันทีขณะเกิดเหตุ จำนวน 6 คน
กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีพฤติการณ์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 15 คน
4. หลังจากเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือ ผกก.เบิ้ม ผกก.2 บก.ทล.ได้มีการใช้อาวุธปืนปลิดชีพตนเอง ในบ้านพักย่าน อ.คูคต จ.ปทุมธานี จึงเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ ว่าประเด็นการเสียชีวิตดังกล่าวมีส่วนเชื่อมโยงในคดีนี้อย่างไร จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า พ.ต.อ.วชิราฯ อยู่ในกลุ่มให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยทันทีขณะเกิดเหตุ โดยหลังเกิดเหตุได้เร่งรีบนำตัว พ.ต.ต.ศิวกรฯ และ พ.ต.ท.วศินฯ ไปโรงพยาบาลเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องโดยทันที ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องนำคนเจ็บส่ง โรงพยาบาล ไม่มีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
5. เรื่องคดีการฮั้วประมูลของกำนันนก ปัจจุบัน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย
กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคู่ขนานกันไปกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ชุดทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และหากพบการกระทำความผิดก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ทั้ง 15 ราย คณะพนักงานสอบสวนสืบสวน จะเรียกเข้ามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหาให้ทราบ โดยจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่ได้นิ่งนอนใจ เน้นย้ำว่ามีการสืบสวนสอบสวน ประชุมกับคณะทำงานทุกวัน เพื่อเร่งรัดให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน สมบูรณ์มากที่สุด ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จะทำการสืบสวนสอบสวนอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส มีความเป็นมืออาชีพ และไม่ยอมให้ตำรวจไม่ว่ายศไหน รวมถึงผู้อิทธิพลใด มาวิ่งเต้นในคดีดังกล่าวอย่างแน่นอน