“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 ตอน "ทักษิณ" กลับไทย จับตายื่นศาลสู้คดีปมอายุความ-โทษจำคุก
คราวนี้น่าจะเป็นของจริงแล้วสำหรับการเดินทางกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังแพทองธาร ชินวัตร บุุตรสาวแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ยืนยันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเตรียมจะไปรับทักษิณที่สนามบินดอนเมืองในวันที่ 22 สิงหาคม เวลา 9.00 นาฬิกา
วันเวลาที่กลับคืนสู่มาตุภูมิของอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นวันเดียวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยรัฐสภาเตรียมจะลงมติให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หรือไม่
ในเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลับประเทศไทยในรอบทศวรรษย่อมมีนัยทางการเมืองพอสมควร โดยก่อนหน้านี้ตัวแพทองธารเองเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะกลับประเทศไทย ก็ต่อเมื่อการเมืองภายในประเทศนิ่งเท่านั้น
ดังนั้น การประกาศกลับประเทศในวันดังกล่าว ย่อมเป็นการสื่อให้เห็นว่าการเมืองไทยจะกลับมามีเสถียรภาพ ภายใต้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย
การเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยนั้น ย่อมสร้างความอุ่นใจให้กับคนในครอบครัวชินวัตรได้เป็นอย่างมาก เพราะต้องไม่ลืมว่าทักษิณมีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกลับการได้กลับประเทศ นั่นก็คือการต้องถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึง 3 คดี
ประกอบด้วย 1.คดีการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ศาลพิพากษา จำคุก 2 ปี
2.คดีการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา จำคุก 3 ปี
และ 3.คดีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ พิพากษาจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุก 10 ปี โดยมีเพียงคดีการซื้อขายที่ดินถนนรัชดาภิเษกเท่านั้น ที่หมดอายุความล่วงเลยการลงโทษ ไปก่อนหน้านี้
ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแม้อาจจะไม่ได้มีคนของพรรคเข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มีหน้าที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากเกรงจะถูกมองว่ามีกระบวนการอำนวยความสะดวกให้กับลุงโทนี่หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ย่อมสามารถการันตีความปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในเรือนจำได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าทักษิณแล้วการเดินหมากการเมืองแต่ละครั้งย่อมไม่ให้ตัวเองต้องยืนพิงเชือกหรืออับจนหนทางเป็นแน่
เพราะมีเงินจ้างบรรดาทีมกฎหมายมือฉมังมารับใช้ ให้หาช่องทางตามกฎหมายเพื่อให้นายใหญ่คนนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำให้น้อยที่สุด เท่าที่กฎหมายจะให้เอื้อมไปถึง
โดยประเด็นหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ที่ทีมกฎหมายของทักษิณคงให้ความสนใจ และน่าจะคิดกันไว้แล้วคือ การขอให้ศาลฎีกาพิจารณาการนับอายุความในคดีที่ศาลได้พิพากษาทั้งสามคดี รวมทั้งคดีที่อยู่ในศาล
แม้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 กำหนดไม่ให้นับอายุความในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ แต่กฎหมายปปช .เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลัง การกระทำผิด และฟ้องคดีต่อศาลฎีกา หรือกรณีศาลมีคำพิพากษาแล้ว ตามหลักกฎหมายทั่วไปย่อมไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษ
จึงมีประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า กฎหมายที่ตราขึ้นมาใหม่ในภายหลัง การทำผิด หรือศาลมีคำพิพากษาแล้ว ของทักษิณก็ต้องไม่มีผลย้อนหลังไปในทางเป็นโทษแก่ทักษิณด้วย ก็เลยเป็นช่องทางหนึ่งที่ทักษิณมีสิทธิ์นำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา เพื่อให้พิจารณาว่าทักษิณต้องติดคุก หรือว่าหนีคุกพ้นอายุความล่วงเลยการลงโทษ ตามกฎอาญา มาตรา98 หรือไม่
ซึ่งในประเด็น อายุความการฟ้องคดี ตามมาตรา 95 กฎหมายอาญา ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่17905/2557
และ 9955/2558 อันเป็นคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินปัญหาข้อกฎหมาย ว่า
ตามบทบัญญัติพรป ป้องกันและปราบปรามการทุจริต การฟ้องคดี ว่าห้ามมิให้นับระยะเวลาการหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใช้บังคับ อันจะเป็นผลร้ายต่อจำเลยมิได้ว่า
ดังนั้น การหลบหนีของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย ที่มีการทำผิดกฎหมายก่อนกฎหมาย ปปช.ฉบับ 2561 ประกาศใช้ ก็ยังนับอายุความตามกฎหมายอาญา มาตรา 95 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาชี้ขาดแล้ว
แต่สำหรับในมาตรา 98 ที่เป็นเรื่องอายุความล่วงเลยการลงโทษ หรือจำเลยหนีคุก หลังศาลมีคำพิพากษา ที่เหมือนคดีทักษิณที่มีโทษจำคุกทั้งสามคดีแล้ว ศาลฎีกายังไม่มีแนวทางการตัดสินข้อกฎหมายนี้ โดยตรง
เชื่อว่า ทักษิณอาจใช้สิทธ์ยกมาตรา ๙๕ มาขอศาลพิจารณาคดีก็ย่อมมีเหตุสมควร เพราะทักษิณถูกกล่าวทำผิดระหว่างป็นนายกรัฐมนตรีถึงปี 2549 เป็นการกระทำก่อนกฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ กฎหมายอาญามาตรา 95 บัญญัติว่า ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
คดีที่ทักษิณโดน สามคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาแล้วสามคดี กับอีกกลุ่มยังอยู่ในชั้นพิจารณา คดีทั้งสองกลุ่มทักษิณอาจจะได้อิสรภาพ ด้วยอานิสงส์จากเรื่องอายุความหลบหนี ทั้งอายุความฟ้องคดีและอายุความล่วงเลยการลงโทษ เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นผลร้าย ตามที่ปรากฏชัดเจนในคดีการตัดสินปัญหาข้อกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกสที่17905/2557 และ 9955/2558 ก็เป็นได้
ดังนั้น การกลับเมืองไทยของทักษิณ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยที่มิอาจปฏิเสธได้
---------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1