พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่าตามที่ บช.สอท. ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีมิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมลอกเลียนแบบเพจโรงแรม หรือที่พักจริงในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำที่พัก และค่าประกันทรัพย์สินเสียหาย นั้น
ที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพที่นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบเดิมๆ จำนวน 2 วิธี คือ 1.การสร้างเพจปลอม โดยการตั้งชื่อเพจ หรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจที่พักจริง คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา กิจกรรม และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้ และใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการที่พักได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการซื้อ หรือใช้เพจอื่นที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นเพจที่พักปลอมดังกล่าว 2.ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตาร โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือเป็นลูกค้าทั่วไปแล้วทำการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม กลุ่มท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความขายบัตรกำนัล (voucher) ของที่พักในราคาถูก หรือในลักษณะว่ามีห้องพักหลุดจองราคาด่วน ราคาดี กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อพูดคุย ติดต่อโอนเงินค่ามัดจำ ค่าประกันทรัพย์สินเสียหายไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้อีก
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะตรวจสอบก็ต่อเมื่อได้ทำการโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพแล้ว ขอให้ประชาชนพึงระมัดระวัง และรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจที่พักเหมือนที่พักจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยว หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 10 ข้อ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดาเพื่อมัดจำค่าที่พัก บัญชีที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น
2.สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking, Agoda Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
3.หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ หากมีหลายเพจชื่อซ้ำกันต้องตรวจสอบให้ละเอียด
4.เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
5.โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ ชื่อและเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
6.เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
7.เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
8.ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
9.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
10.หมั่นตรวจสอบข่าวสารจากทางราชการอยู่เสมอ