MGR Online - ตร.เตือนภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาใช้ผ้าเทป-เชือกมัดมือมัดเท้า ก่อนถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง
วันนี้( 11 ส.ค.) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ร่วมกันแถลงเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้น พ่อแม่คาดว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่าเป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่บุตรหลานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือ ภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานของตนเองหรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป
สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือ ระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือ มีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงินกลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไปย้ายหรือออกจากห้องพักหรือที่พักปัจจุบันที่พักอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และคนร้ายให้เหยื่อหรือผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย อีกทั้งคนร้ายยังสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อทำทีปิดโทรศัพท์ และสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายหรือเหยื่อเองเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
ข้อสังเกตุ และข้อควรระวัง
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2.คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย
แนวทางการป้องกันสำหรับนักศึกษา
1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์
2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
4. หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที
6. หากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่ ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับ
วิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม มีดังนี้
1. หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ โทรสายด่วน 191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
นายศุภกร กล่าวว่า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง และได้มอบหมายให้มาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า กรณีนี้คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันคนร้าย อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักความห่วงใยบุตร-ธิดาของตนเองเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้
1. หลอกให้เหยื่อย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกเหยื่อว่ามี ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่
2. หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น
3. หลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com , https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com