xs
xsm
sm
md
lg

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ยืนจำคุก 16 เดือน ไม่รอลงอาญา “นริศร ทองธิราช” อดีต ส.ส.เพื่อไทย เสียบบัตรแทนกันในสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก 16 เดือน ไม่รอลงอาญา “นริศร ทองธิราช” อดีต ส.ส.สกลนคร เพื่อไทย เสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภา

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.10/2566 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้อง นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย กรณีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. และ วันที่ 11 ก.ย.2556 เวลากลางวัน ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา เมื่อประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในขณะนั้นแจ้งให้สมาชิกลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำเลยได้นำบัตรประจำตัวและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและของสมาชิกรัฐสภารายอื่นอีกหลายใบอันเกินกว่าจำนวนบัตร แสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเลยและสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งจะพึงมีและใช้ได้เพียงคนละ 1 ใบ คนละ 1 เสียง มาใช้แสดงตนและลงคะแนน ของจำเลย และแสดงตนและออกเสียงแทนสมาชิกรัฐสภารายอื่น โดยเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวหมุนเวียนใส่เข้าไปในเครื่องออกเสียงลงคะแนนและกดปุ่มเพื่อแสดงตนและลงมติคราวละหลายใบ ในการออกเสียงลงคะแนนในคราวเดียวกัน อันเป็นการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเกินกว่า 1 เสียงในการลงคะแนนแต่ละครั้ง

การกระทำของจำเลยมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตบิดเบือนขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาโดยชัดแจ้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปวงชนชาวไทย อันเป็นการกระทำการในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบและมิอาจถือได้ว่ามติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อันเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทยโดยส่วนรวมและเป็นการกระทำโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123/1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 172, 192, 198 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลฎีกาฯพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามฟ้อง จำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 16 เดือน ทั้งนี้ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดใดๆ มาก่อน ก็ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษ

จำเลยอุทธรณ์
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์มีพยานยืนยันประกอบคลิปวิดีทัศน์หมาย 5 รายการ โดยเป็นคลิปวิดีทัศน์ที่จำเลยรับว่าบุคคลในภาพเคลื่อนไหว คือ จำเลย ซึ่งคลิปวิดีทัศน์ ศาลฎีกาฯส่งไปตรวจพิสูจน์ ที่กองพิสูจน์หลักฐาน กลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์ไม่พบร่องรอยการตัดต่อของคลิปวิดีทัศน์ ทั้งเสียงที่ปรากฏในคลิปวิดีทัศน์นั้น ตรงกับข้อความที่ บันทึกไว้ในรายงานการประชุมรัฐสภาตามเอกสาร
พยานหลักฐานตามทางไต่สวนล้วนสอดคล้อง เชื่อมโยงกัน เชื่อว่า คลิปวิดีทัศน์เป็นภาพเหตุการณ์ลงคะแนนระหว่างร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 ส่วนคลิปวิดีทัศน์อื่นเป็นเหตุการณ์ ลงมติอภิปรายที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ภาพของจำเลยที่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงคะแนนซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรายอื่นเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น ดังนั้นการที่จำเลยนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและ ลงคะแนนซึ่งเป็นบัตรจริงของจำเลยและสมาชิกรายอื่น เสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนหลายใบเพื่อลงคะแนนแทนสมาชิกอื่น
ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใน มาตรา 9 และมาตรา 10 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. และวันที่ 11 ก.ย. 2556 อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐาน ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 122 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ทั้งเป็นการขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ตามมาตรา 123 และขัดต่อการออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 126 วรรคสาม
การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ตามบทนิยามของ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 เป็นการปฏิบัติอย่างใดใน ตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดย มิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ปวงชนชาวไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาอื่น ประชาชน และผู้มีชื่ออื่น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
กำลังโหลดความคิดเห็น