MGR Online - ผู้การฯ นิติเวช เผย ศพ “ฮันส์ ปีเตอร์” ถูกแช่แข็งก่อนนำมาหั่นแยกเป็น 11 ชิ้น ยังไม่ชี้ชัดสาเหตุการตาย รอผลตรวจชิ้นเนื้อ-สารเสพติด คาด รู้ผลใน 30 วัน
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงการชันสูตรศพ นายฮันส์ ปีเตอร์แรลเตอร์ มัค หรือ ฮันส์ ปีเตอร์ อายุ 62 ปี นักธุรกิจเยอรมัน ถูกฆ่าหั่นศพยัดตู้แช่ ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ว่า วานนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งร่างของนายฮันส์ ปีเตอร์ มาชันสูตรที่สถาบันนิติเวช ในขั้นตอนมาตรฐานของทางนิติเวช จะมีการผ่าพิสูจน์โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตและมีการเก็บวัตถุพยาน ดีเอ็นเอ ส่งตรวจเพื่อหาสารพิษหรือยา จากเนื้อเยื่อ อาหารในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งในรายนี้ขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลาในการดูชิ้นเนื้อในกล้องจุลทรรศน์ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ส่วนการตรวจหาสารพิษและดีเอ็นเอ เบื้องต้นใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์
พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวต่อว่า ชิ้นส่วนร่างกายที่ส่งมาตรวจชันสูตรมีทั้งหมด 11 ชิ้น สอดคล้องกับที่พนักงานสอบสวนให้ข้อมูลมาระบุได้ว่า ศพถูกแช่แข็งไว้ไม่เปลี่ยนสภาพ หน้าตายังสามารถจำได้อยู่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือไปตรวจเปรียบเทียบตัวบุคคลแล้ว สามารถยืนยันว่าเป็นนายฮันส์ ปีเตอร์ ทั้งนี้ ยังต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเรื่องสารเสพติดต่างๆ ซึ่งต้องนำมาประกอบการให้ความเห็นสาเหตุการตาย
เมื่อถามถึงรอยหั่นจะสอดคล้องกับอุปกรณ์ที่เจอซึ่งเป็นเลื่อยไฟฟ้าที่พบในที่เกิดเหตุหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า ขอบของบาดแผลที่หั่น รวมถึงกระดูก และเนื้อเยื่อต่างๆ เรียบ ถ้าหากเป็นเลื่อย ตนไม่แน่ใจเรื่องวัตถุพยานแต่เลื่อยบางชนิดสามารถทำให้เกิดได้ ทั้งนี้ ชิ้นส่วนร่างกายพบว่าถูกหั่นแยกเป็นชิ้นส่วน หลังจากผ่านการแช่จนแข็งแล้วนำมาหั่น ซึ่งมีความเป็นไปได้สอดคล้องกับการที่ไม่พบรอยเลือดในที่เกิดเหตุ หากเทียบเคียงกับคดีเก่าฆ่าชาวสเปนในลักษณะพฤติการณ์ในการนำศพไปแช่แข็งมองว่าวัตถุประสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือเพื่อทำให้เกิดหลักฐานหรือวัตถุพยานน้อยที่สุด
พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบบาดแผลที่เกิดก่อนการเสียชีวิต เป็นบาดแผลฟกช้ำเล็กน้อยตามใบหน้า แขน ขา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตที่เกิดจากบาดแผลยังไม่เจอ ฉะนั้น ยังต้องรอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ บาดแผลที่ปรากฏที่เป็นบาดแผลก่อนตายพวกฟกช้ำถลอก ไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ และ นายฮันส์ ปีเตอร์ เสียชีวิตก่อนนำศพไปแช่เพราะแผลการตัดเป็นบาดแผลที่เกิดหลังตาย ทั้งนี้ ยังไม่เจอเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอที่จะบอกจึงยังต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
เมื่อถามถึงการตรวจหาดีเอ็นเอของบุคคลอื่นจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบกี่วัน พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า เป็นส่วนของทางพฐ.ที่เก็บรอยนิ้วมือ ดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ