MGR Online - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ ผ่านโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) เผยผลงานในรอบ 3 ไตรมาส เร่งรัดช่วยเหลือประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว กว่า 18,000 เรื่อง
วันนี้(30 มิ.ย.) พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.ให้ดำเนินการ โครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชน สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน”
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 - 2565 ที่ผ่านมา มีการอบรมเครือข่ายประชาชนไปแล้ว 371,063 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้มีการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพ จาก 1,483 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 50 คน รวม 74,349 คน ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 445,412 คน โดยผลการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 18,435 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 18,342 เรื่อง ได้แก่
1. ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ ชุมชนแออัดและแหล่งเสื่อมโทรม หนี้นอกระบบ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ ตลอดจนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การฉ้อโกงออนไลน์และแก๊งคอลเซนเตอร์ ฯลฯ จำนวน 13,755 เรื่อง โดยได้เร่งรัดประสานศูนย์ PCT และตำรวจไซเบอร์ใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ และระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในพื้นที่
2. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน ความยากจน ปัญหาหนี้สิน การขาดแคลนที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 463 เรื่อง
3. ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเสื่อมโทรมในชุมชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 2,482 เรื่อง
4. ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ จำนวน 1,642 เรื่อง
และมีปัญหาที่อยู่ระหว่างหน่วยดำเนินการแก้ไข โดยได้สั่งการเร่งรัดและคาดว่าจะสามารถแก้ไขได้ จำนวน 93 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม 61 เรื่อง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 15 เรื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 14 เรื่อง ปัญหาด้านความขัดแย้ง 3 เรื่อง ตามลำดับ
โดยสามารถจำแนกผลการดำเนินการของหน่วยที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้ บช.น. แก้ไขได้ 1,712 เรื่อง คิดเป็น 99.5%, ภ.1 จำนวน 1,685 เรื่อง (99.9%), ภ.2 จำนวน 1,333 เรื่อง (100%), ภ.3 จำนวน 2,685 เรื่อง (100%), ภ.4 จำนวน 3,605 เรื่อง (98.8%), ภ.5 จำนวน 1,868 เรื่อง (99.9%), ภ.6 จำนวน 2,738 เรื่อง (99.7%), ภ.7 จำนวน 852 เรื่อง (99.9%), ภ.8 จำนวน 901 เรื่อง (99.4%) และ ภ.9 จำนวน 963 เรื่อง (94%)
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ สถานีตำรวจ 1,483 สถานีทั่วประเทศ เพื่อสรุปผลการปฏิบัติประจำเดือนในทุกเดือน และลงพื้นที่เพื่อประชุมขับเคลื่อนและตรวจติดตามผล ตลอดจนให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องร่วมกับหัวหน้าสถานีตำรวจและตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ พร้อมลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายภาคประชาชนและมอบสิ่งของให้กับประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการฯ รับฟังความคิดเห็นและรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการ
พล.ต.ท.ประจวบ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประสานงานเครือข่ายของทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เร่งประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกให้สะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เข้าช่วยเหลือและทำการแก้ไข พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ให้ผู้บังคับบัญชาลงไปขับเคลื่อนและกำกับสถานีตำรวจในความรับผิดชอบให้เกิดผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมในภาพรวม โดยในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะมีสภาพปัญหาและความต้องการมากหรือน้อย เครือข่ายภาคประชาชนจะทำหน้าที่แทนตำรวจ ในการเสนอปัญหาให้ทราบ และเป็นหน้าที่ของตำรวจแก้ไข หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประชาชนก็จะคลายความเดือดร้อน
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะประสบผลสำเร็จ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ แก้ไขปัญหาความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ดังนั้นสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจทุกนายต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจริงจังให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและสังคม มีความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบไป