xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20 ล้าน อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 เรียกสินบนแลกให้ประกันตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก 5 ปี ริบเงิน 20 ล้าน อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 เรียกสินบนแลกให้ประกันตัว ผู้ต้องหาชาวไต้หวัน 20 ล้าน ศาลชี้มีพยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องมัดเเน่น

วันนี้ (30 มิ.ย.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 178/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นฟ้อง นาย ฐ.อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 ในความผิดฐานทุจริตต่อ หน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขอให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171,175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128,129 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5(2) (เดิม) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ ฯ ขอให้ริบทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท และ หรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลย แทนตามมูลค่าดังกล่าว

โจทก์ฟ้องสรุปว่า คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวันและ ศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายขังไว้ในคดีอาญา เมื่อระหว่างเดือน พ.ย.2561-12 ธ.ค.2561 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 จำเลยอ้างว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับ การสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันดังกล่าวได้ โดยจำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ. เป็นค่าตอบแทน
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า นอกจากโจทก์มีบันทึก ถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่าจำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ. รวม 4 ครั้งแล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ที่นาย พ. พบและส่งมอบเงิน ให้กับจำเลย ดังนี้ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2561 จำนวนเงิน 1 ล้านบาท ที่โรงแรม สินทวี จังหวัดภูเก็ต โจทก์มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ตของ นาย พ. ที่แสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวนาย พ. เบิกถอนเงินสด 1 ล้านบาทบาท จากบัญชีของตน สาขาภูเก็ตเพื่อนำมามอบให้จำเลยที่รออยู่ที่โรงแรมสินทวี ส่วนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2561 จำนวน 3 ล้านบาท ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2561 จำนวน 7 ล้านบาท และครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 จำนวน 9 ล้านบาท มีการนัดและส่งมอบเงินกันที่ โรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร โจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยและนาย พ. นัดพบเพื่อส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซี่ในช่วงวันเวลาดังกล่าว ได้แก่ ข้อมูลการเดินทางของจำเลย ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเครื่องบินบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระหว่างภูเก็ต - ดอนเมือง และดอนเมือง - ภูเก็ต ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรมเอ็มบาสซี่ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ซึ่งระบุวันเวลาที่นาย พ. เข้าพัก
ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการนัดพบจำเลย ภาพถ่ายจำเลยในบริเวณโรงแรมเอ็มบาสซี สะพานควาย และ ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานควาย ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับโรงแรม รายการเคลื่อนไหวทางบัญชี ธนาคารของนาย พ.ที่แสดงว่านาย พ. ทำรายการฝากถอนเงินเพื่อรวบรวมเงินนำไปมอบให้จำเลย รวมถึง คลิปวิดีโอภาพและเสียงและสัญญาจ้างที่ทำขึ้น เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นการรับเงินครั้งสุดท้าย

พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเรียกและรับเงิน จากนาย พ. 20 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการเพื่อจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มี คำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันหรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตามก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 175 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ. ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา มาตรา 128 วรรคหนึ่ง และ 129 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวอีกกระทงหนึ่งด้วย แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 171 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางไต่สวนว่า นาย พ. รู้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และจำเลยเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะนำไปมอบให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีกทอดหนึ่งและนาย พ. กับพวกก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่มีการกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใดที่จะทำให้นาย พ.กับพวกเชื่อหรือเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ กระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 วรรคหนึ่ง, 129 ประกอบมาตรา 169,175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อ กฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20 ล้านบาท หรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ข้อหาอื่น นอกจากนี้ให้ยก

ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตฯมีคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิจารณาเเล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยตีราคาประกัน 3 เเสนบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณา จำนวน 10 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเวลา 9 เดือน 3 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น