ปธ.ศาลฎีกา ออกเกณฑ์การดำเนินคดีพินัย เน้นสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม หลังกฎหมายใหม่ ใช้บังคับ 22 มิ.ย.นี้ จุดเด่นไม่มีประวัติอาชญกร ลดผลกระทบสังคม
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกาได้ออกประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย พ.ศ.2566
ตามที่ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งจะเริ่มใช้บังคับวันที่ 22 มิ.ย. นี้ มีผลทำให้ความผิดที่มีแต่เพียงโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายต่างๆ ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ถูกเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย โดยไม่ถือเป็นความผิดอาญาอีกต่อไป กฎหมายพืชกระท่อมประเดิมเป็นฉบับแรก ส่วนอีก 168 พ.ร.บ. จะเปลี่ยนเป็นพินัยในเดือนตุลาคมนี้ ผู้กระทำผิดคดีพินัยไม่ติดประวัติอาชญากรเพื่อลดผลกระทบทางสังคม และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับหรือทำงานแทนค่าปรับได้ตามฐานะเศรษฐกิจ โดยกฎหมายกำหนดให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทนี้
ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย พ.ศ.2566 สำหรับใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการดำเนินคดีความผิดทางพินัยในชั้นศาล โดยมีหลักการที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น กำหนดให้ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักในการดำเนินคดีไม่ว่าการยื่นฟ้อง ส่งเอกสาร หรือการพิจารณาคดีให้ทำทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าใครยังไม่พร้อมใช้ก็ใช้วิธีการเดิมไปพลางก่อนได้ คดีพินัยสามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ซึ่งต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่ต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย คดีพินัยถึงแม้จำเลยไม่มาสู้คดี ศาลก็พิจารณาคดีต่อได้ แต่ยังต้องพิจารณาจากหลักฐานว่าจำเลยทำผิดจริงหรือไม่ก่อนตัดสิน รวมถึงวางหลักเกณฑ์ใหม่เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการพิพากษาคดี ที่ศาลอำนวยความสะดวกเต็มที่ให้โจทก์จำเลยไม่ต้องมาฟังคำพิพากษาที่ศาลก็ได้ โดยสามารถขอให้ศาลส่งคำพิพากษาไปให้แทน
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าสำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัยนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากเดิมศาลยุติธรรมมีแต่เพียง คดีแพ่ง คดีอาญา ต่อไปจะมีคดีพินัย อีกประเภท