xs
xsm
sm
md
lg

“ราชทัณฑ์” ยันระเบียบฯ ปฏิบัติต่อ “ผู้ถูกกักกัน” คุมผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ-ไม่ช่วยคนผิดรอดคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษกราชทัณฑ์ แจงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อ “ผู้ถูกกักกัน” ให้อำนาจอธิบดีชี้ขาดติดคุกนอกเรือนจำ ข้อมูลคลาดเคลื่อน ย้ำผู้ทำผิดต้องนอนคุก

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีที่มีกระแสข่าวเผยแพร่ ว่า เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา ออกระเบียบราชทัณฑ์ต่อผู้ถูกคุมขัง 2566 เปิดช่องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้ขาดย้ายผู้ถูกคุมขังนอกเรือนจำ สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนถึงอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยเนื้อหาของข่าวมีส่วนที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสาระสำคัญและผลบังคับใช้ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เตรียมกลับประเทศไทย ในเดือน ก.ค.นี้

นายสิทธิ กล่าวว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 เพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการดูแลสวัสดิภาพของ “ผู้ถูกกักกัน” ตามกฎหมาย โดยมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ใช้วิธีการกักกันกับผู้ที่เคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหรือกักกันมาแล้ว และศาลเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ซึ่งหากผู้นั้นยังมีโทษจำคุกหรือกักขังที่จะต้องรับอยู่ก็ให้จำคุกหรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน

ดังนั้น “การกักกัน” จึงมิใช่การจำคุกนอกเรือนจำแต่อย่างใดแต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยที่ศาลอาจมีคำพิพากษาเพิ่มเติมจากโทษทางอาญาที่ลงแก่จำเลย ส่วน “ผู้ต้องขัง” ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล จะต้องถูกควบคุมตัวไว้ ในเรือนจำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ถูกกักกันอยู่ในความดูแล จำนวน 57 ราย (ชาย 51 รายหญิง 6 ราย) และจากสถิติที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ผู้ถูกกักกันเป็นบุคคลจรจัด ไร้บ้าน ทำความผิดซ้ำในคดีลักทรัพย์ (ลักเล็กขโมยน้อย) เป็นหลัก  

นายสิทธิ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปัจจุบันพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2566 กำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับตามคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษหรือคำสั่งคุมขังฉุกเฉินตามที่ศาลกำหนด โดยให้นำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ด้วยเหตุนี้ กรมราชทัณฑ์จึงจำเป็นต้องประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของผู้ถูกกักกันและบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษหรือคำสั่งคุมขังฉุกเฉินให้เกิดความเหมาะสมและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านเพจประชาสัมพันธ์ของกรมราชทัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น