xs
xsm
sm
md
lg

ส่วยสติ๊กเกอร์ ขุมทรัพย์หมิ่นล้าน ปราบให้ได้ คนอยากเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ส่วยสติ๊กเกอร์ ขุมทรัพย์หมิ่นล้าน ปราบให้ได้ คนอยากเห็น



ไม่แปลกใจที่ พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทางหลวง จะโดนคำสั่งเด้งด่วนไปเข้ากรุ เพราะคำตอบของเขา เรื่องปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ ต้องบอกว่า สอบตก

ดันยอมรับในทีว่า ตำรวจเก็บส่วยจริง ซะอย่างนั้น ผู้บังคับบัญชาจะปล่อยให้มีหน้าที่สำคัญตรงนั้นต่อไป คงไม่ได้

การอ้างว่า การเก็บส่วยเป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุมาจากผู้ประกอบการ ที่อยากจะจ่ายส่วยซะหน่อย มันเป็นตรรกะป่วยๆ พูดเอาแต่ได้

คนที่ประกาศตัวเป็น “ดาวเคราะห์น้อย” พร้อมจะพุ่งทำลายล้างเจ้าหน้าที่ที่ร่ำรวยจากการทุจริต อย่างนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถือว่ามาถูกทาง

เขาลุยทำแต้มต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังไม่ทันได้เป็นรัฐบาลเต็มตัว

สถานะที่เปลี่ยนไป จากการเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน มาเป็นว่าที่รัฐบาล ส่งผลให้การแฉของเขามีผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม
พูดแล้วคนต้องฟังกว่าเดิม โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการ ต้องมีปฏิกิริยาตอบรับที่ฉับไว

ความจริงแล้ว เรื่องสติ๊กเกอร์ส่วยบรรทุก เป็นเรื่องเก่าแก่โบราณ เคยเป็นข่าวโครมครามยุคกว่า 30 ปีมาแล้ว

นักการเมืองใหญ่ ที่มีธุรกิจรับเหมาอย่าง “เจ้าพ่อวังน้ำเย็น” นายเสนาะ เทียนทอง เคยพยายามแก้ปัญหาส่วย ด้วยการเรียกร้องให้เพิ่มน้ำหนักบรรทุกรถสิบล้อเป็น 28 ตันไปเลย

อ้างว่าถนนไทยแข็งแรงพอ ผู้ประกอบการก็กำไรที่ 28 ตัน ไม่ต้องส่งส่วย

ซึ่งสื่อมองว่า ป๋าเหนาะเป็นการพูดเอื้อตัวเองให้ได้ประโยชน์นี่หว่า จึงได้ฉายาแสบๆ คันๆ “ป๋าเหนาะ 28 ตัน”

จากวันนั้นจนวันนี้ กลายเป็นว่า ส่วยสติ๊กเกอร์ไม่เคยจากไปจากสังคมไทย จะมีเปลี่ยนไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็แค่หน้าตา มีการออกแบบให้ดูน่ารักคิกขุกว่าเดิม

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่วยรถบรรทุก เป็นรายได้นอกระบบของตำรวจทางหลวง กินกันอู้ฟู่มาตลอด ซึ่งนายวิโรนจน์ อดิศรลักขณา ประเมินคร่าวๆ ว่า อาจเป็นเงินสูงถึงปีละ 2 หมื่นล้านบาท

จุดเริ่มต้นของการรีดไถรถบรรทุก ก็มาจากกฎข้อบังคับเกี่ยวกับตัวรถบรรทุกอันจุกจิกรอบคัน ตำรวจทางหลวงแค่กางกฎหมายดู ก็สามารถจิ้มหาจุดผิดกฎหมายของรถบรรทุกได้สารพัดอย่าง

แต่จุดที่เปิดช่องให้รีดเงินกันแบบเป็นล่ำเป็นสัน ก็คือ น้ำหนักบรรทุก ซึ่ง ณ เวลานี้ สูงสุดอยู่ที่ 50.5 ตัน ในรถพ่วง 24 ล้อ

ผู้ประกอบการอยากได้กำไรเพิ่มขึ้น จากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็ยอมจ่ายส่วยอย่างเต็มใจ ซึ่งตรงนี้ เป็นที่มาของคำชี้แจงจากผู้การทางหลวง ที่อ้างว่า นี่แหละคือต้นเหตุปัญหา

การสมยอมกัน โดยใช้สติ๊กเกอร์เป็นสัญญาณผ่านด่าน เป็นโมเดลที่ วิน-วิน ระหว่างผู้ประกอบการกับตำรวจทางหลวง

แต่คนที่เสียหายร้ายแรง ก็คือประชาชนคนจ่ายภาษี เพราะผิวถนนดีๆ มีให้ใช้ไม่นานเท่าไร ก็กลายเป็นลอนคลื่น เป็นหลุมบ่อ ต้องตั้งงบซ่อมแซมกันไปตลอดชาติ

การที่นักการเมืองพรรคก้าวไกล พยายามแก้ปัญหาสังคมอันหมักหมมอย่างส่วยสติ๊กเกอร์ มีแต่คนจะตามเชียร์

ยิ่งว่าที่ ส.ส.วิโรจน์ ประกาศเลยว่า เจ้าหน้าที่ที่ร่ำรวยจากเงินสกปรกพวกนี้ เขาจะจัดหนักให้โดนยึดทรัพย์ ให้กลายเป็นยาจกไปเลย ไม่ว่าใครที่ได้ยินคำขู่แบบนี้ ก็อยากชมเป็นขวัญตา

เพียงแต่ปัญหาการส่งส่วยแบบสมยอม ต้องบอกว่าไม่ง่ายที่จะแก้ไข เพราะถ้ามันง่าย มันก็คงไม่ได้อยู่เป็นของคู่สังคมไทยมายาวนาน 30-40 ปี ขนาดนี้

ขบวนการส่วยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ให้หลบซ่อนแนบเนียนกว่าเดิม หรือรอเวลาที่นักการเมืองหันไปเล่นเรื่องอื่น ก็ฟื้นคืนชีพมาใหม่

นายวิโรจน์ ถ้าอยากเห็นสังคมใหม่ที่สวยใสตามอุดมการณ์ มีแต่จะต้องเป็นดาวเคราะห์ร้าย พุ่งทำลายล้างแบบไม่หยุดพัก อย่าให้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง

ขณะเดียวกัน ข่าวส่วยทางหลวง หลายคนก็โฟกัสไปที่นามสกุลคุ้นๆ อย่าง “ลิ้มสังกาศ” เอ๊ะ นามสกุลนี้ ดังมากเลยนะ

ก่อนหน้านี้ไม่เท่าไร ก็เพิ่งมีข่าวของ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ป.ป.ง. ถูกร้องเรียน เรื่องไปเอี่ยวกับถุงเงินส่งส่วยให้มหาโจร นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นพี่ชายของ พล.ต.ต.เอกราช ผู้การทางหลวง ที่เพิ่งโดนเด้งนี่เอง

-------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น