“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2566 ตอน เพื่อไทยได้เปรียบ ยื้อโหวตชิงเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ
ถึงคิวเปิดศึกแย่งเก้าอี้แรก ที่สำคัญอย่างยิ่งใน 3 อำนาจ ที่จะมีการลงมติเป็นคิวแรก หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ 95% คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ถือเป็นเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
หลังพรรคก้าวไกลยอมถอย ไม่เอาเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในเอ็มโอยู แต่คราวนี้ฮึดสู้ ประกาศกอดเก้าอี้แน่น อ้างสิทธิ์ในฐานะเบอร์อันดับ 1 ของประเทศ จะนั่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเอง
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ 2 ขอไม่หลีกทางให้ ประกาศเก้าอี้ตัวนี้ขอแบ่ง หลังพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1 ในฝ่ายบริหารไปแล้ว
พรรคสีแดงตีปี๊บ พรรคก้าวไกลชนะไม่ขาด จะมาอ้างสิทธิ์พรรคอันดับ 1 นั่งเก้าอี้ตัวนี้ เหมือนกับที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ที่ชนะขาดลอยเหมือนในอดีตไม่ได้
กองเชียร์สองฝั่ง ระหว่างเสื้อแดง กับด้อมส้ม เปิดฉากตะลุมบอน หาเหตุผลมางัดง้างกันเพื่อจะหาความชอบธรรมในการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ในอดีตที่ผ่านมา การเลือกประมุขนิติบัญญัติไม่เคยเดือดเท่านี้มาก่อน ส่วนใหญ่จะเจรจาบนโต๊ะ ไม่ปล่อยคนมาฟาดฟันกันต่อหน้าสื่อ ไม่ถึงขนาดขู่จะแยกทางกัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าพรรคหนึ่งพรรคใดในพรรคร่วมจะได้ไป ย่อมเป็นฝั่งรัฐบาลอยู่ดี
อย่างครั้งก่อน พรรคพลังประชารัฐแม้จะได้อันดับ 1 ในขั้วรัฐบาล แต่ด้วยอำนาจต่อรองของพรรคร่วม กับสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำที่ทุกเสียงในรัฐบาลมีความสำคัญหมด ชนิดที่ว่าขาดใครไม่ได้แม้แต่คนเดียว จึงต้องยอมถอยให้พรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องขอตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติให้ ชวน หลีกภัย ทั้งที่ใจอยากจะเก็บเก้าอี้ไว้ให้ พ่อมดดำ สุชาติ ตันเจริญ ในตอนนั้น
แม้จะแก้เกมกันช่วงระหว่างประชุม แต่เมื่อมีสัญญาณส่งตรงถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดว่า ไฟเขียวให้ ชวน เป็นคนนั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทุกอย่างจึงจบ ไม่บานปลาย
การอ้างสิทธิ์พรรคอันดับ 1 เพื่อจะครองเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้อยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายตัวใด ที่ผ่านมาเป็นเพียงประเพณีที่พรรคอันดับ 1 ซึ่งมีคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งไป
ในอดีตมีหลายหนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากพรรคอันดับ 1 ย้อนกลับไปช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตำแหน่งนี้ตกเป็นของ ชัย ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับ 2 ในขั้วรัฐบาล
เนื่องจากตอนนั้น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้กลุ่มเพื่อนเนวิน พลิกขั้วมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นเสียงข้างมากในสภา
อำนาจต่อรองของกลุ่มเพื่อนเนวินขณะนั้นสูงมาก ได้เก้าอี้กระทรวงเกรดเอไปอยู่กับตัวจำนวนมาก ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นรัฐบาล และ อภิสิทธิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจ
ฉะนั้น การเป็นพรรคอันดับ 1 ไม่ได้หมายความว่า จะได้เก้าอี้ดังกล่าวโดยอัตโนมัติ แต่ต้องดูด้วยว่า พรรคอันดับ 1 มีเสียงมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ มากน้อยเพียงใด หากคะแนนขี่คอกัน พรรคร่วมรัฐบาลย่อมมีอำนาจต่อรองสูง ส่วนที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เคยนั่งเอง เพราะคะแนนขาดจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองน้อยมาก อย่างไรก็ต้องยอม
แต่ศึกแย่งชิงประมุขนิติบัญญัติในปัจจุบัน การที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างไม่ยอมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างพิศวาสอำนาจและหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร
พรรคก้าวไกลนั้น ไม่ได้ต้องการจะรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในฐานะพรรคอันดับ 1 เหมือนที่พูดแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย จึงต้องการเก็บไว้กับตัวเอง
ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นกำหนดวาระการประชุม รวมถึงทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในการโหวตนายกรัฐมนตรี หากพรรคก้าวไกลคุมกลไกนี้ไว้ได้ จะทำให้พรรคเพื่อไทยขยับตัวลำบาก หากคิดจะฉีกMOUกลางทาง
อย่างน้อยระหว่างการโหวตนายกรัฐมนตรี หากชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่ผ่านด่าน ส.ว. ยังดึงเกมนำเข้ามาโหวตเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ ไม่ยอมถอยง่ายๆ เพื่อสู้กับ ส.ว.
แต่หากเก้าอี้ตัวนี้ตกไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย แล้วเกิดกรณีชื่อของ พิธา ไม่ฝ่าด่าน ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี อาจจะเจอเกมเสนอชื่ออื่นเข้ามาแข่ง โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
พรรคก้าวไกลไม่ไว้วางใจว่า พรรคเพื่อไทยจะสู้เต็มที่ให้กับ พิธา หรือไม่ กลัวจะถูกพรรคเพื่อไทยเล่นละครตบตา เพื่อหวังคว้าพุงปลาไปกินเอง โดยอ้างว่า ชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลไปต่อไม่ได้แล้ว
พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้ต้องการถูกพรรคก้าวไกลจับเป็นตัวประกัน จึงพยายามดิ้นสุดฤทธิ์เพื่อเก้าอี้ตัวนี้ เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้กำหนดเกม
ซึ่งดูแล้วหากพรรคก้าวไกลไม่ยอม และพรรคเพื่อไทยซึ่งไม่ยอมแน่ เคลียร์กันไม่จบ มีสิทธิ์ได้เห็นการปล่อยฟรีโหวต แข่งกันเองในพรรคร่วม
แน่นอนว่า ถ้าถึงจุดนั้นพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบ เพราะ ส.ส.ของพรรคอื่น ไม่สนับสนุนคนของพรรคก้าวไกลแน่ น่าจะยกมือให้กับคนของพรรคเพื่อไทยมากกว่า
พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา หากจะยื้อกันแล้วไปวัดกันที่เสียงโหวต
-------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1