xs
xsm
sm
md
lg

“ผอ.บ็อกซิ่ง” ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ จากวานวันถึงปัจจุบัน “นักมวย ตำรวจ และข้าราชการดีเอสไอ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



              ครอบครัวทำอาชีพค้าขายและคุณพ่อเป็นโปรโมเตอร์มวย จัดประกบคู่ชกตามงานวัดแถวบ้าน อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี โดยแม่จะตามไปด้วยตลอด (สนามมวยสมัยนั้นล้อมรอบด้วยผ้าใบ ผู้ชมต้องเสียเงินเข้าดู) มาวันนึงแม่ปวดท้องและคลอดเราที่สนามมวย หมอตำแยเป็นพ่อทำคลอดเองเพราะมีความรู้เบื้องต้น เมื่อคลอดเสร็จก็รีบส่งโรงพยาบาลทันที เป็นที่มาชื่อเล่นว่า “บ็อกซิ่ง”

              ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เล่าย้อนถึงวัยเด็ก ว่า ประมาณอายุ 13-14 ปี พอมีทักษะมวยบ้าง จำได้ขึ้นเวทีครั้งแรกเป็นมวยงานวัดละแวกบ้าน มีคู่ชกขาด ผู้จัดก็เรียกให้ไปเปรียบมวย (วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก) และรูปร่างพอๆ กัน ผลปรากฏว่าชนะน็อคคู่แข่ง รับเงินรางวัล 80 บาท จากนั้นไม่เคยขอเงินทางบ้านเลยเพราะแอบมาชกมวยหาตังค์เอง

ได้รางวัลหลังเป็นตัวแทนโรงเรียนม่วงสามสิบ ต่อยมวยสมัครเล่น
              พอเป็นที่รู้จักก็มีค่ายมวยประจำจังหวัด “กองบิน 21” ชวนไปฝึกซ้อมและขึ้นต่อยเวทีมาตรฐาน มีชื่อมวยครั้งแรก “191 พ.ธวัชชัย” เพราะไม่อยากให้พ่อรู้ ทุกครั้งเมื่อซ้อมมวยเสร็จกลับมาบ้าน ตัวจะบอบช้ำบ้าง แต่ครอบครัวเห็นเราเป็นคนเล่นกีฬาเลยไม่ได้ผิดสังเกตอะไร ผ่านสักระยะเริ่มมีชื่อเสียง พ่อมักถามคนแถวบ้านว่าเด็กคนนี้เป็นใคร อยากไปดูฝีมือเมื่อเห็นเป็นเราความลับก็แตก เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “บ็อกซิ่ง ศักดิ์สุคนธ์” ตามพ่อตั้งให้

              ตอนเด็กขึ้นชกราวๆ 40-50 ไฟต์ เคยขึ้นอันดับ 1 รุ่นพินเวท น้ำหนักไม่เกิน 45 กก. ของชมรมมวยภาคอีสาน และครั้งหนึ่งค่ายมวย “ส.เพลินจิต” มาติดต่อซื้อตัวแต่ที่บ้านไม่ให้ไป ไม่เช่นนั้นชีวิตอาจพลิกผันแล้วก็ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนม่วงสามสิบ ต่อยมวยสมัครเล่นกวาดแชมป์ตลอด หลังจบ ม.6 เข้าสู่การเรียนหนังสืออย่างจริงจัง ไม่ได้ชกต่อ และเดินทางมาเรียนที่กรุงเทพฯ

มาเป็นนักเรียนกรมอุตุนิยมวิทยา สอบชิงทุนได้
              ขณะนั้นปี 2534 กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดรับสมัครนักเรียนกรมอุตุฯ สอบชิงทุนเรียนฟรีได้และใช้เวลาเรียนปีเดียวจบ บรรจุรับราชการต่อทันทีในปีถัดมา เป็นเจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา ระดับ 1 ซึ่งจากผลการเรียนดีจึงได้ทุนเรียน “เรดาร์” แต่ต้องเรียนควบคู่ทำงานด้วย (เรดาร์ คือ เครื่องตรวจอากาศ เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ดูกลุ่มฝนทั่วประเทศ ส่งเข้ามาส่วนกลาง คือ กองพยากรณ์อากาศ ทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าจะเกิดสภาพอากาศอย่างไรบ้าง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยกว่าอดีตเยอะมาก) รวมทั้ง เรียนต่อ ม.รามคำแหง สาขาวิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ เพราะคิดจะเติบโตในสายงานนี้แล้ว

              จุดเปลี่ยนก็มาถึงจังหวะคุณพ่อเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว วันที่ 28 ก.พ.2535 มีโอกาสกลับบ้านได้รับฟังคำพูดจากแม่ที่พ่อสั่งเสียไว้อยากให้เข้าตำรวจ ส่วนตัวคิดว่าคงไม่เหมาะเพราะเป็นคนตัวเล็ก แต่เมื่อวัดส่วนสูงผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จึงปรึกษาพี่ชายที่เป็นตำรวจ “พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3” แนะนำขั้นตอนต่างๆ ก็มุ่งมั่นตั้งใจเรียน กระทั่ง เม.ย.2537 สอบติดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.51) และเรียน 4 ปีจบ เลือกลง สภ.วังน้อย จ.อยุธยา พนักงานสอบสวน สบ.1 เมื่อปี 2541 ก่อนย้ายมากองปราบในปี 2546

ครั้งหนึ่งในชุดเครื่องแบบนายร้อยตำรวจ
              จากนั้นหนึ่งปี กรมสอบสวนคดีพิเศษก่อตั้งขึ้นปี 2547 ตอนนั้น จบ ป.โท เนติบัณฑิต ตัดสินใจอย่างไม่ลังเลย้ายหน่วยมา ใช้ตำแหน่ง "ร.ต.อ." เทียบโอนเป็นข้าราชการ ซี 5 ตำแหน่ง จนท.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ประจวบกับเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ จึงร่วมเป็นชุดสอบสวนปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่สีแดง เดินทางขึ้น-ลงภาคใต้บ่อยครั้ง เพื่อสอบพยาน ผู้เกี่ยวข้อง บันทึกปากคำ ฯลฯ

              ต่อมา ได้รับโอกาสช่วยงาน สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ศูนย์สารสนเทศ ควบคู่กัน เนื่องจากองค์กรเพิ่งก่อตั้งใหม่ ยังไม่มีความพร้อมมากนัก สำนวนคดีมารวบรวมไว้ที่สำนักเทคโนโลยีฯ ส่วนใหญ่ทำคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในอดีตนายทุนจะมีเอกสารสิทธิออกให้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีใบเอกสารดังกล่าวแล้วถือเป็นคำสั่งทางปกครองทันที ดีเอสไอจึงเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปตรวจสอบว่าการออกคำสั่งทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ใช่คำสั่งนั้นถือว่าเป็นโมฆะและนับเป็นการออกเอกสารโดยมิชอบ พร้อมดำเนินคดีนายทุนฐานบุกรุกป่าและจะพัวพันถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้ง โดยบูรณาการร่วมกับภาคี

              "อย่าง การเอาผิดกรณีบุกรุกที่ดินรัฐบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีบริษัทต่างชาติคาดว่าเป็นแก๊งฟอกเงินนำมาต่อยอดธุรกิจ แต่ใช้ชื่อนอมินีคนไทยถือหุ้นครอบครองแทน ด้วยการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์และบ้านพักตากอากาศเพื่อขายให้คนต่างชาติ นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการครอบครองที่ดินของรัฐ กรณีดังกล่าวเป็นคดีแรกของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการค้าที่ดิน"

ลงพื้นที่ตรวจสอบคดีทุจริตฮั้วประมูล
              ช่วงปลายปี 2563 ขยับขึ้น ผอ.กองคดีฮั้วประมูล จนถึงปัจจุบัน โดยคดีทุจริตมักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง เบื้องต้นเอาผิดทางเอกชนก่อนเพราะประมูลได้แล้วทิ้งงาน ส่วนหน่วยงานรัฐต้องไปฟ้องแพ่งกับเอกชน แต่ถ้าไม่ฟ้องปล่อยปละละเลย คาดว่าน่ามีส่วนรู้เห็นด้วยก็จะส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

              ล่าสุด โครงการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 5 แห่ง ในจ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี และ จ.ร้อยเอ็ด พบทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ “กฎหมายฮั้วประมูล” (วงเงินงบประมาณกว่า 67 ล้านบาท) ได้ส่งสำนวน พร้อมนำผู้ต้องหา 17 ราย มอบพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งฟ้องแล้ว ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาในชายคาดีเอสไอร่วมทำงานกับ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อดีตอธิบดีดีเอสไอ มาโดยตลอดจนท่านเกษียณราชการ

ผอ.บ็อกซิ่ง ร่วมแถลงข่าวติดตามความคืบหน้าคดีสำคัญของดีเอสไอ
              “จริงๆ ตอนเด็กฝันอยากเป็นครู (คุรุทายาท) ชอบสอนหนังสือในพื้นที่ห่างไกล มองว่าเป็นอาชีพที่เสียสละ มีเกียรติ และระบบการเรียนการสอนบ้านเรายังไม่ค่อยดี ทำให้เด็กไม่สนใจหรือเห็นเส้นทางอนาคตตัวเอง คิดว่าถ้าวิชาแนะแนวดีจะส่งผลต่อเด็กรู้ว่าโตมาอยากเป็นอะไร ซึ่งการศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ครอบครัวไม่ไห้ไปจึงล้มเลิกเสียก่อน”

              ส่วนอนาคตในชีวิตข้าราชการก็อยากทำงานเพื่อองค์กร ช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติและเป็นที่พึ่งประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความยุติธรรมสามารถมาร้องเรียนได้ ตามคำขวัญดีเอสไอ “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์”

"จิบชาตราชั่ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น