โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 ชี้วัดอนาคตประเทศไทย ให้เสียงประชาชนตัดสิน
ภารกิจจัดการเลือกตั้ง ส.ส. มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นหัวเรือใหญ่ ผ่านวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังมีหลายจุดที่ต้องอุดจุดอ่อน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) ได้มอบหมายภารกิจหลัก “เลือกตั้ง2566” ให้กับ ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่ควบตำแหน่ง ผอ.ศลต.ตร. ในการบริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ช่วงโค้งสุดท้าย “บิ๊กเด่น” ผบ.ตร.สวมบทผู้นำตำรวจ นั่งหัวโต๊ะประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ รับฟัง และสั่งการกำชับตำรวจทั่วประเทศ
เน้นเข้มงวดในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยก็ตาม และโค้งสุดท้าย “คืนหมาหอน” จับตาคุมเข้มห้ามซื้อเสียง ปล่อยกระสุนหวังชิงชัย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาจับกุมแล้ว 3 ราย ในพื้นที่ บึงกาฬ พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร
แต่สิ่งที่ ศลต.ตร.ได้เน้นให้ความสำคัญควบคู่กับงานด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร นั่นก็คือ “การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจในส่วนของกฎหมายเลือกตั้ง” เพื่อป้องกันประชาชนกระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ โฆษก ศลต.ตร. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ผบ.ตร.และ ผอ.ศลต.ตร.ได้กำชับให้ทุกสถานีตำรวจดูแลอำนวยความสะดวก การจราจรให้ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และได้เตรียมกำลังพลกว่า 145,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัย สืบสวนหาข่าว รักษาความสงบเรียบร้อย ให้กับหน่วยเลือกตั้ง 90,000 กว่าหน่วยทั่วประเทศ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จนส่งผลให้ภาพรวมทั่วประเทศถึง ณ ขณะนี้ สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ศลต.ตร.ยังคงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในเรื่องข้อห้ามต่าง ๆ ที่ทำแล้วจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง ทั้งทางโซเชียลมีเดีย สื่อประชาสัมพันธ์กลางแจ้ง ป้าย จอภาพ ตามท้องถนนทั่วประเทศ และการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเท้าให้ความรู้ตามหมู่บ้าน
“ศลต.ตร.ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงหรือมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำความผิดเกี่ยวกับป้ายหาเสียง โดยการฉีก เผา ทำลาย หรือปลดป้ายหาเสียง การกระทำความผิดในขณะที่อยู่ในคูหาเลือกตั้ง หรือการกระทำความผิดในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 หรือคืนหมาหอน ซึ่งทุกการกระทำผิดดังกล่าวข้างต้นจะมีบทลงโทษที่แตกต่างกันไป” โฆษก ศลต.ตร.กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับบทลงโทษความผิด เผา ฉีก ทำลาย หรือปลดป้ายหาเสียง จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนบทลงโทษความผิดเมื่ออยู่ในคูหาเลือกตั้งแล้ว จะมีหลายกรณี ประกอบด้วย
1. นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2. ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.จงใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือจงใจทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
4.นําบัตรที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้เลือกหรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษ จําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
และ 5.ห้ามสวนเสื้อผ้า เครื่องต่างกายที่มีสัญลักษณ์ หมายเลข พรรค ผู้สมัคร เข้าคูหา มีโทษฐานโฆษณาหาเสียงในเวลาห้าม
พล.ต.ท.นิธิธร ยังได้กล่าวเพิ่มเติม ถึงการกระทำความผิดที่มักพบในคืนหมาหอน (วันที่ 13 พฤษภาคม 2566) จนถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก็คือ การจำหน่าย จ่าย แจกสุราในเขตเลือกตั้ง การซื้อสิทธิ ขายเสียง การพนันผลการเลือกตั้ง ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งยิ่งมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง รวมไปถึงการจัดรถเพื่อเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง ซึ่งการทำเหล่านี้ ทางศลต.ตร.ได้วางกำลังสอดส่องและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ โฆษก ศลต.ตร. ยังได้แจกแจงบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดช่วงคืนหมาหอนและช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ดังนี้
1. ห้ามจำหน่าย – แจกสุราในเขตเลือกตั้ง (ตั้งแต่ 13 พ.ค.66 เวลา 18.00 น. จนถึง 14 พ.ค.66 เวลา 18.00 น.) ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ห้ามซื้อสิทธิ ขายเสียงผู้ซื้อเสียง ฝ่าฝืน จำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิ 20 ปี ขณะที่ ผู้ขายเสียง จำคุก 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิ 10 ปี
3. ห้ามพนันผลการเลือกตั้ง ฝ่าฝืน จำคุก 1 – 5 ปี หรือปรับ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิ 10 ปี ห้ามจัดรถเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง ฝ่าฝืน จำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนสิทธิ 20 ปี
อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศลต.ตร.ขอเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามวัน และเวลา ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยง หรือมีความผิดตามกฎหมาย กาเบอร์ที่รัก กาพรรคที่เลือก เลือกคนดีคนเก่งเข้าสภาฯ