xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครองต้องรู้! ตร.ไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพปลอมเป็นหญิง ลวงเด็กชายชักชวนให้วีดิโอคอลลามกอนาจาร นำคลิปไปขายในโลกออนไลน์ ฝากดูแลบุตรหลานใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพปลอมเป็นหญิงหลอกลวง เด็กชายชักชวนให้วีดิโอคอลลามกอนาจาร แต่แอบบันทึกคลิปไปประกาศขายตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ดังนี้

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.4, บก.สส.ภ.5, สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวน และจับกุมตัว นายณัฐชญาดา อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ในข้อหา “ ค้ามนุษย์โดยเป็นธุระจัดหาเด็ก โดยมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการผลิตและเผยแพร่สื่อลามกเด็ก, ครอบครองสื่อลามกเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองและผู้อื่น, ส่งต่อสื่อ ลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆที่มีลักษณะอันลามก” พร้อมด้วยของกลางโทรศัพท์มือถือ ที่มีลิงก์ไฟล์ภาพ และคลิปวีดิโอลามกอนาจารของเด็กหลายรายจำนวนมาก การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผู้ต้องหาได้ปลอมเป็นเพศหญิงก่อเหตุประกาศโฆษณาตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน กว่า 13 ราย ให้ทำการเปิดกล้องวีดิโอคอลในลักษณะลามกอนาจาร ระหว่างนั้นผู้ต้องหาได้แอบบันทึกภาพ และวีดิโอขณะผู้เสียหายกำลังสำเร็จความใคร่เอาไว้ จากนั้นก็จะนำภาพ และคลิปไปประกาศขายตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในราคาประมาณ 300 - 500 บาท จากการสืบสวนขยายผลพบผู้ซื้อคลิปวีดิโอจากผู้ต้องหากว่า 80 ราย อยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวแล้ว คนร้ายยังมักใช้วิธีการจะปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ใช้รูปโปรไฟล์เป็นหนุ่มสาวหน้าตาดี สร้างความสนิทสนมสร้างความเชื่อใจ ชักชวนหลอกลวงเหยื่อให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันปลอม (Hybird Scam) หรือหลอกลวงให้โอนเงินไปให้ (Romance Scam) หรือนัดพบเจอเหยื่อแล้วก่อเหตุต่างๆ เพราะฉะนั้นการรับเพื่อน และการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ต้องตรวจสอบและระมัดระวังให้ดี อย่าไว้ใจผู้ใด ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนซึ่งในปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ทำให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสใช้ช่องทางเหล่านี้แสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกัน ดังนี้

1.ระมัดระวังการรับเพื่อนจากโลกออนไลน์ ไม่ว่าจากช่องทางใดๆ ก็ตาม ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ ถึงแม้ปรากฏว่าเป็นเพื่อนของเพื่อนก็ตาม ก็ควรตรวจสอบว่าเป็นเพื่อนกันจริงๆ หรือไม่
2.ไม่หลงเชื่อการชักชวนให้ทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ เนื่องจากภาพ และคลิปวีดิโอเหล่านั้นจะคงอยู่ไปตลอด
3.มิจฉาชีพอาจจะหลอกลวงด้วยการให้ทรัพย์สิน หรือให้เป็นดารานักแสดง แลกกับการชวนให้เปิดกล้อง หรือให้ถ่ายภาพโป๊เปลือยให้
4.ไม่ส่งภาพ หรือคลิปวีดิโอส่วนตัวให้ผู้ใดทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นเพื่อน หรือคนรักกันก็ตาม เมื่อเลิกรา หรือมีเรื่องทะเลาะกัน ก็อาจถูกนำคลิปวีดิโอ หรือรูปภาพส่วนตัวมาประจาน หรือข่มขู่เอาทรัพย์สินได้
5.ไม่นัดพบเจอบุคคลที่รู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากจำเป็นควรนัดพบในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือมีเพื่อน หรือผู้ปกครองติดตามไปด้วย ไม่นัดเจอในที่ลับตาคนเด็ดขาด
6.หากเป็นมิจฉาชีพมักจะไม่ยอมเปิดกล้องให้เราเห็นหน้า แต่ยังต้องระมัดระวังมิจฉาชีพใช้คลิปวีดิโอที่บันทึกเอาไว้แล้ว
7.พ่อแม่ผู้ปกครองหมั่นพูดคุย แนะนำ และให้คำปรึกษา บุตรหลานให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสังเกตพฤติกรรมการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น