xs
xsm
sm
md
lg

คนที่ไว้ใจร้ายที่สุด! ตร.ไซเบอร์ พบมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์เป็นคนรู้จักหลอกลวงยืมเงินกว่า 8 พันกรณี เสียหายกว่า 312 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอฝากเตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เป็นบุคคลที่เรารู้จัก บุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือบุคคลอื่น เพื่อหลอกลวงยืมเงิน หรือให้โอนเงินให้โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ดังนี้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้เสียหายซึ่งเป็นภรรยาของนักร้องเพลงร็อกชื่อดัง ถูกมิจฉาชีพใช้บัญชีไลน์ปลอมของบุตรชายติดต่อเข้ามาพูดคุย สร้างความน่าเชื่อถือ โดยการใช้ชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ปลอม ใช้ความรัก และใช้คำพูดที่ดูน่าสงสาร เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้เชื่อว่าเป็นบุตรชายของตนจริง กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อรีบโอนเงินให้มิจฉาชีพจำนวนหลายแสนบาท ต่อมาทราบว่าถูกหลอกลวงจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 16 เม.ย.66 พบว่า การหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงินนั้น มีประชาชนแจ้งความร้องทุกข์กว่า 8,342 เรื่อง หรือ คิดเป็น 3.48% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 312 ล้านบาท

การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า นอกจากการปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าวแล้ว มิจฉาชีพยังใช้วิธีการสุ่มโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากการค้นหาผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Whoscall, Get Contact เป็นต้น เริ่มจากการถามไถ่ว่าเหยื่อเป็นอย่างไรบ้าง รู้หรือไม่ว่าผู้ใดโทรมา เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อพูดชื่อของบุคคลนั้นออกมาแล้วทำการสวมรอยทันที โดยอ้างว่าได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ขอให้เหยื่อลบหมายเลขเดิมแล้วบันทึกเบอร์ดังกล่าวเอาไว้ ต่อมามิจฉาชีพจะโทรศัพท์หาเหยื่ออีกครั้งเพื่อขอยืมเงิน อ้างเหตุผลต่างๆ เช่น ต้องใช้เงินด่วนไม่ได้เอาเงินมา บิดามารดาเจ็บป่วย เพื่อขอยืมเงินจากเหยื่อ และสัญญาจะคืนให้ในเวลาไม่นาน สุดท้ายก็หลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำธุรกรรมการเงินใดๆ ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และมีสติอยู่เสมอ


ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกยืมเงิน 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบก่อนว่าเป็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลนั้นจริงหรือไม่ โดยการตรวจสอบประวัติการสนทนาที่ผ่านมา
2. หากเป็นกรณีการเพิ่มเพื่อนใหม่ ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่เชื่อเพียงเพราะว่าใช้ชื่อบัญชี และรูปโปรไฟล์เหมือนบุคคลนั้น
3. เมื่อรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย แล้วถูกผู้ที่โทรมาสอบถามว่ารู้หรือไม่ว่าเป็นใคร ให้วางสายยุติการสนทนาทันที ห้ามกระทำตามที่ผู้นั้นบอกเด็ดขาด
4. เมื่อมีการขอให้โอนเงินไปให้ โดยการอ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ต้องทำการยืนยันตัวบุคคลนั้นก่อน โดยโทรศัพท์ไปหาโดยตรง แล้ววิดีโอคอลขอให้เปิดกล้องโทรศัพท์เพื่อให้เห็นใบหน้าอย่างชัดเจน
5. อย่าได้เกรงใจ หรือสงสารบุคคลนั้น แล้วไม่กล้าโทรศัพท์ หรือขอเปิดกล้องเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งหากบุคคลที่ทักมาขอยืมเงินเป็นคนที่เรารู้จักจริง ก็ต้องยินยอมให้ยืนยันตัวตน
6. หากบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารไม่ตรงกับบุคคลที่เราจะโอนเงินไปให้ สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอ้างว่าเป็นบัญชีของผู้ใดก็ตาม
7. หากท่านตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารในทันที เพื่อขอทำการอายัดบัญชีธนาคารของคนร้าย
8. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก เพื่อป้องกันการถูกแฮ็ก หรือเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์


กำลังโหลดความคิดเห็น