ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดี ป.ป.ช.ยื่น"กนกวรรณ วิลาวัลย์" อดีตรมช.ศึกษาธิการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ชี้เคยถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีแล้ว คำขอจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัย
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.3/2565 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ผู้ร้อง กับนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรมช.ศึกษาธิการ ผู้คัดค้าน เรื่อง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คดีนี้ป.ป.ช.ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งรมช.ศึกษาธิการดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 41576 เลขที่ 41577 และเลขที่ 41578 ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรีโดยมิชอบและโดยทุจริต ด้วยการแสดงคุณสมบัติอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่
เป็นเหตุให้ได้รับไปซึ่งโฉนดที่ดินทั้งสามแปลง ผู้คัดค้านครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงวันดำรงตำแหน่งตลอดมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นการถือครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ไม่ดำรงตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ถือเอาประโยชน์ที่ได้จากการกระทำโดยมิชอบ เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม และเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผู้คัดค้านให้การปฏิเสธ ขอให้ยกคำร้อง
ต่อมา ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำร้องของผู้ร้องคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ของศาลนี้
ศาลฎีกา เห็นว่า ในชั้นนี้คดีพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดการไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 ข้อ 25 ซึ่งคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 และคดีนี้ ผู้ร้องเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 เพื่อให้วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และครอบครองที่ดินซึ่งได้มาโดยมิชอบนั้นจนถึงวันดำรงตำแหน่งตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำขอบังคับตามมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองเป็นอย่างเดียวกันทั้ง 2 คดี กล่าวคือ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งรมช.ศึกษาธิการ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี เมื่อความปรากฎในระหว่างพิจารณาคดีนี้ว่า ศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำที่คมจ.2/2565 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งรมช.ศึกษาธิการนับแต่วันที่ 26 ส.ค.2565 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว เมื่อคดีนี้มีคำขอบังคับเช่นเดียวกันกับในคดีก่อน โดยมิได้มีคำขอบังคับอย่างอื่นใดอีก การที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานและพิพากษาคดีนี้ต่อไป ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะบังคับตามคำขอบังคับของผู้ร้องในคดีนี้เกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ค้ดค้านที่ดำรงตำแหน่งรมช.กระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งเดียวกันกับในคดีก่อน เพราะศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไปแล้ว ส่วนการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นมาตรการจำกัดสิทธิทางการเมืองนั้นมีลักษณะเป็นเพียงคำขอในคดีจริยธรรม
ดังนั้น คดีนี้ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ เพราะไม่อาจบังคับตามคำขอของผู้ร้องได้ และคำขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้อง ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยเช่นเดียวกัน ทั้งกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ คมจ.2/2565 ของศาลนี้ ตามคำร้องของผู้คัดค้านอีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีเสียออกจากสารบบความ