พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอกลวงขายเครื่องฟอกอากาศในช่วงสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์กว่า 1,500 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 13 ล้านบาท เฉลี่ยได้รับความเสียหายประมาณ 8,600 บาทต่อราย ตัวอย่างสินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง เสื้อผ้า และ ปลาแซลมอน เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่มีสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่มิจฉาชีพกลับฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกลวงประชาชนขายเครื่องฟอกอากาศยี่ห้อต่างๆ ประกอบกับมีการยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงประชาชนที่สนใจ มีการคัดลอกรูปภาพ เนื้อหาคุณสมบัติ และวิธีการใช้งานของเครื่องฟอกอากาศ จากช่องทาง หรือเว็บไซต์ทางการที่มีการซื้อจริง นอกจากนี้แล้ว ยังมีการจัดโปรโมชันลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป รวมไปถึงการใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์หน้าม้า หรืออวตารโพสต์รีวิวสินค้า และแสดงความเห็นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเสียหาย และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน โดยที่ผ่านมาถือว่าเป็นภัยที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอันดับที่ 1 ทั้งนี้ บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการที่สำคัญหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่างๆ ได้ ที่สำคัญ สามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1. ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะสินค้ามีมูลค่าสูง ควรซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางการเท่านั้น
2. ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล
3. ระมัดระวังเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือลอกเลียนแบบ โดยเพจเฟซบุ๊กจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามได้
4. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่า มีการเปลี่ยนชื่อขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
5. ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น
6. ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่
6. ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller เป็นต้น
7. เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง
8. กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรเปิดตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน ตรวจสอบว่าชำรุด ตรงกับที่สั่งหรือไม่
9. กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ
10. หากสินค้ามีปัญหาให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด