วันนี้ (31 มี.ค.) ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 5 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นประธานการจัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดเชียงใหม่
โดยมี นายธีรยุทธ์ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงความเป็นมาของคำสั่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร แนวทางการจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัด ผ่านกลไกแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) , นายณัฐพล ด่านจิตร์ตรง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสืทธิและเสรีภาพ ชี้แจงการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านกลไก “บวร” (บ้าน/วัด/โรงเรียน) การนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาบรรจุในสถานศึกษาทุกระดับชั้น และในทุกหน่วยงานต่างๆ ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ตามมติคณะรัฐมนตรี โครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธมนุษยชน ผ่านแอปพลิเคชั่น Webex Meetings พร้อมด้วย นายพัสกร เพ็ชรในหิน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมประชุมชี้แจงการจัดทำตามตัวชี้วัดระดับจังหวัด , นางสาวขนิษฐา เลาหศิรินาถ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ เข้าร่วมประชุมและสังเกตการณ์
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่ 2/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เล็งถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนระดับจังหวัด จึงได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายและการบังคับคดีจังหวัด รองประธาน ร่วมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม ผู้แทนจากสถาบันระดับอุดมศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี นายเจริญ น้อยพินิจ ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหน่วยงานในระดับจังหวัดได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบระดับดีเด่นมาแล้ว 2 ปี ซ้อน ได้แก่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือและพิจารณาแนวทางการยกร่างแผนการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่ การเชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เข้าสมัครองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนในปี 2566 และได้มีการประกาศเจตนารมย์ เรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับจังหวัด อย่างบูรณาการ สร้างองค์ความรู้ ความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ต่อไป