นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานในจังหวัดสุโขทัยว่า จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน จำนวน 38,378 ไร่ เป็นแหล่งปลูกส้มเขียวหวานมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นอำเภอเหนือสุด เขตติดต่ออำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โดยตำบลแม่สิน เป็นพื้นที่ราบและที่ลาดเชิงเขา มีแม่น้ำยมและลำห้วยแม่สินไหลผ่าน จึงมีความเหมาะสมในการปลูกส้มเขียวหวานสีทองและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบล
กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย และสำนักงานเกษตรอำเภอศรีสัชนาลัย จึงได้จัดตั้งเกษตรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานในตำบลแม่สำ และตำบลแม่สิน จำนวน 9 แปลง พื้นที่ 4,783.25 ไร่ เกษตรกร 389 ราย พร้อมให้คำแนะนำและองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดตั้งกลุ่มให้เข้มแข็ง การดูแลรักษา การลดต้นทุน การกำจัดศัตรูพืชและโรคต่าง ๆ และการตลาด โดยส้มเขียวหวานในตำบลแม่สิน มีอัตลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่น เนื่องจากมีบ่อน้ำร้อน 2 แห่ง ริมตลิ่งแม่น้ำยมทำให้ดินมีแร่กำมะถัน เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ส้มเขียวหวานสีทองมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีรสหวานอมเปรี้ยว เมื่อสุกแล้วมีรสชาติหวานฉ่ำ ประกอบกับช่วงอากาศหนาวเย็นมีอุณหภูมิ 14 - 20 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ผิวส้มเขียวหวานเปลี่ยนเป็นสีทองสวยงาม
ด้านนายปราโมทย์ สังขวุฒิ รองประธานแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน และเจ้าของสวนส้มกว่า 40 ไร่ กล่าวว่า เพิ่งเก็บผลผลิตไป 2 รุ่น มีรายได้จากการขายส้มเขียวหวานประมาณ 5 แสนบาทต่อส้ม 10 ไร่ ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี แต่ปีนี้ส้มไม่ล้นตลาด และได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ โดยส้มขนาดเบอร์ 4 ถึงเบอร์ 0 เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 2-23 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกส้มมีรายได้เพียงพอ และเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่นในขนาดพื้นที่เท่ากัน คิดว่าส้มเขียวหวานมีรายได้มากกว่า
สำหรับฤดูการผลิตส้มเขียวหวานมี 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่นที่ 1 ประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 2.15 ตัน ปริมาณผลผลิต 50,879 ไร่ รุ่นที่ 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 1.40 ตัน ปริมาณผลผลิต 41,945 ไร่ และรุ่นที่ 3 ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 1.85 ตัน ปริมาณผลผลิต 17,358 ไร่ รวมผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณ 110,182 ตัน
ส่วนด้านการตลาด เกษตรกรจะจำหน่ายที่จุดรับซื้อทั้งในพื้นที่ตำบลแม่สินและตำบลแม่สำ โดยร้อยละ 60 จำหน่ายให้กับพ่อค้าส่งจากต่างจังหวัด เพื่อนำไปจำหน่ายต่อยังตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ตลาดทางภาคอีสาน (นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อุดรธานี) และตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว อีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้พ่อค้าส่งในจังหวัดเพื่อจำหน่ายให้พ่อค้าปลีกและจำหน่ายต่อให้ผู้บริโภคในจังหวัด ร้อยละ 20 จำหน่ายตลาดต่างประเทศ และร้อยละ 10 จำหน่ายให้พ่อค้าปลีกต่างจังหวัด