xs
xsm
sm
md
lg

กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งวิสาหกิจชุมชน ยื่นเสียภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวคุณภาพชีวิต



นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 จำนวน 83,679 แห่ง และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 588 แห่ง (ข้อมูล 31 ธ.ค. 2565) โดยแบ่งรูปแบบการดำเนินกิจการของวิสาหกิจชุมชนเป็น 2 ประเภท คือ วิสาหกิจชุมชนประเภทบุคคลธรรมดา และวิสาหกิจชุมชนประเภทนิติบุคคล วิสาหกิจชุมชนที่ประกอบกิจการและมีรายได้ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยแบ่งวิธีการเสียภาษีของวิสาหกิจชุมชนได้ดังนี้

1.วิสาหกิจชุมชนประเภทบุคคลธรรมดา ที่ประกอบการในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ นิติบุคคล ต้องยื่นคำขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่วิสาหกิจชุมชนมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ โดยยื่นชำระภาษีเงินได้ ดังนี้ 1) ภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน ของปีภาษี และ 2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี และในการยื่นแบบแสดงภาษี ต้องแนบบัญชี หรือรายงานเงินสดรับ - จ่าย ตามที่กรมสรรพากรกำหนด

2. วิสาหกิจชุมชนประเภทนิติบุคคล เป็นวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร โดยภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล โดยการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องยื่นแบบเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้ 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี 2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) ภายใน 150 วัน นับแต่วันรอบสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 3 หรือ ภ.ง.ด. 53 หรือ ภ.ง.ด. 54) ทั้งวิสาหกิจชุมชนที่เป็นและไม่เป็นนิติบุคคล นำส่งแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีเงินได้ โดยนำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกในการคำนวณภาษีเมื่อยื่นแบบตอนครึ่งปีหรือสิ้นปี และ 4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งวิสาหกิจชุมชนที่เป็นและไม่เป็นนิติบุคคล หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือนไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ ทั้งนี้เกษตรกร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร และที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่










กำลังโหลดความคิดเห็น