xs
xsm
sm
md
lg

ถอนหมุดข่าว : ซีเซียม-137 หายนะ ภัยร้ายจากความชุ่ย อันตรายเกินควบคุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ซีเซียม-137 หายนะ ภัยร้ายจากความชุ่ย อันตรายเกินควบคุม



แม้จะเจอแล้ว แต่ก็สายเกินไป สารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก จนรวมเป็นฝุ่นเหล็กสีแดงไปเรียบร้อยแล้ว

ผลที่จะตามมา ถือเป็นหายนะของชีวิตผู้คนเป็นวงกว้าง นักวิชาการชี้ว่า ขณะถูกหลอม ซีเซียม-137 จะแพร่รังสีออกมาทางปล่องควัน ไปถึงไหนก็ฉิบหายที่นั่น

มีตัวอย่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ประเทศรัสเซีย พอเกิดระเบิด มันก็ปล่อยไอของซีเซียม ลอยตามลมไปถึงประเทศสวีเดน ซึ่งห่างออกไปนับพันกิโลเมตร

ไอของซีเซียม-137 จะทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะคน สัตว์ ทั้งบนบกและในน้ำ จากการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ
อนุภาคของรังสีเบต้าและแกมมา จะทำลายดีเอ็นเอ ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ถ้าไม่ตายทันที ก็อาจป่วยเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไทรอยด์ และซีเซียม-137 จะแพร่รังสีได้ไม่ต่ำกว่า 100 ปี

การเดินทางของซีเซียม-137 ยังคงเป็นปริศนา จากต้นทางที่โรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5A จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มันมาโผล่ที่ปลายทาง ที่โรงหลอมเหล็ก ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้อย่างไร

คำถามคือ ใครบ้างจะต้องรับผิดชอบต่อภัยพิบัติกัมมันตรังสีครั้งนี้?

คนที่ควรโดนลงโทษ คงไม่แคล้วจะเป็นโรงไฟฟ้าต้นทาง และโรงเหล็ก ปลายทาง เพราะถือว่าทั้งคู่ ไม่มีมาตรการอันเหมาะสม
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ถือว่าเป็นต้นเหตุของทุกสิ่งทุกอย่าง โทษฐานที่ดูแลสารกัมมันตรังสีให้อยู่ในที่ตั้งไม่ได้ ระบบการรักษาความปลอดภัย ก็สอบตกอย่างแรง

แล้วพอของหายไป โรงไฟฟ้าก็เหมือนไปไม่เป็น มะงุมมะงาหราหาตัวการไม่เจอ แถมยังมีการปิดข่าวกันอย่างไม่น่าให้อภัย กว่าจะยอมแจ้งต่อทางการให้ช่วยค้นหา เมื่อวันที่ 10 มี.ค. เวลาก็ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์แล้ว

ความบกพร่องร้ายแรง แบบผิดแล้วผิดอีก โรงไฟฟ้าน่าจะไม่รอดความรับผิดชอบทางกฎหมาย ทั้งอาญาและแพ่ง

ทีมงาน “ถอนหมุดข่าว” ได้เอกสารชื่อว่า “นโยบายรับผิดชอบต่อสังคม” ของทางเจ้าของโรงไฟฟ้าเจ้าปัญหา คือ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทางโรงไฟฟ้า ใช้เทคโนโลยีสะอาดทุกขั้นตอน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
โดยมีระบบดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพสูง ดักจับฝุ่นได้ถึง 99.5 เปอร์เซนต์ ฝุ่นที่ออกจากปล่องโรงงาน จึงเหนือกว่ามาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งซีเซียม-137 นี่แหละ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการดักจับฝุ่น มันได้รับการติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 และไม่มีการระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว

คือตัวหนังสือในหน้ากระดาษ จะสวยหรูอย่างไร มันก็เท่านั้น ในเมื่อของอันตราย ดันปล่อยให้ล่องหนไปดื้อๆ จับมือใครดมไม่ได้ ซะอย่างนั้น

แท่งตะกั่วชิ้นเล็กๆ ยาวแค่ 8 นิ้ว แต่หนักอึ้งร่วม 25 กิโลกรัม มันล่อตาล่อใจคนอย่างที่สุด ที่จะแปรเจ้าสิ่งนี้เป็นเงิน

สัญลักษณ์ของสารกัมมันตรังสี ที่แปะอยู่ที่แท่งซีเซียม-137 ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับคนเห็นแก่ตัว คนมักง่าย รวมถึงคนไม่มีการศึกษา มันจึงถูกเคลื่อนย้าย ผ่านกระบวนการชั่งเศษเหล็กขาย ไปไม่รู้กี่ทอด

ขณะที่กิจการโรงหลอมเหล็ก กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ เน้นปริมาณไว้ก่อน น่าจะไม่เอื้อต่อการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ เคยเป็นบทเรียนที่ประเทศจีนมาแล้ว เมื่อปี 2009 แท่งซีเซียมจากซากโรงปูนซีเมนต์เก่า โดนส่งเข้าเตาหลอมเหล็กไป เพราะขาดมาตรฐานในการเก็บสารรังสี

ขณะที่ในเมืองไทย เราเคยมีเหตุการณ์น่าอเนจอนาถใจ เมื่อปี 2543 คือ สารกัมมันตรังสี “โคบอลต์-60” จากเครื่องมือทางการแพทย์ ถูกนำไปชั่งเป็นเศษเหล็กขาย ที่จ.สมุทรปราการ

ครั้งนั้น ร้านรับซื้อของเก่า ทำการผ่าแยกชิ้นส่วนแท่งโคบอลต์ไปแล้ว จนรังสีแพร่ออกมาเต็มๆ ก่อเป็นอาการสยองมือเน่า และเสียชีวิตไปในที่สุด 3 ราย เจ็บป่วยอีกนับสิบ และมีประชาชนนับพันคน ที่เข้าข่ายจะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาว

จาก “โคบอลต์-60” ถึง “ซีเซียม-137” สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยเรา ยังไม่พร้อมจริงๆ สำหรับการมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งนักการเมืองพยายามผลักดันนานนับสิบปี

ต่อให้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล แต่ความชุ่ยและฉ้อฉลแบบไทยๆ นิวเคลียร์อาจต้องมาตายน้ำตื้น ด้วยขบวนการซาเล้ง ชั่งเศษเหล็กขาย

--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น