MGR Online - จเรตำรวจ เผย“พ.ต.ท.มานะพงษ์” เลื่อนให้ข้อมูลการเพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง เป็น 28 มี.ค.นี้ อ้างพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก ต้องใช้เวลาเตรียม
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่คณะกรรมการจเรตำรวจที่มี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน ได้มีหนังสือเชิญ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เข้าให้ข้อมูลรายละเอียด สืบเนื่องจากที่ได้ปรากฏเอกสารเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นหนังสือชี้แจงของ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ต่อคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ จำนวน 7 หน้ากระดาษ มีเนื้อความกล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ไปยื่นขอหมายจับ ส.ว.รายหนึ่งในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงินต่อศาลอาญา ซึ่งในครั้งแรกศาลได้ออกหมายจับส.ว.รายนี้ แต่ต่อมาได้เรียกให้ พ.ต.ท.มานะพงศ์ ไปพบ และได้มีการถอนหมายจับไปในวันเดียวกัน โดยในหนังสือชี้แจงดังกล่าวได้พาดพิงไปถึงนายตำรวจระดับสูงและผู้พิพากษาระดับสูงของศาลอาญาจำนวนหลายคน รวมถึงในหนังสือชี้แจงยังได้กล่าวถึงการที่ภายหลังจากที่ได้มีการเพิกถอนหมายจับแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.มานะพงษ์ ยังได้นำเอกสารพยานหลักฐานไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 บช.ปส. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ ส.ว.คนดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินคดีกับ ส.ว.รายนี้แต่ประการใด จนต่อมา พ.ต.ท.มานะพงษ์ และ ตำรวจ กก.2 บก.สส.บช.น.ที่ทำการสืบสวนในเรื่องดังกล่าวก็ถูกคำสั่งโยกย้ายออกไปนอกสังกัดทั้งหมด โดยเชื่อว่าเพื่อไม่ให้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวอีกต่อไป
โดยหลังจากที่เอกสารฉบับดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไป เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหลายแง่มุม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ทราบเรื่องแล้วสั่งการให้ พล.ต.อ.วิสนุ จเรตำรวจแห่งชาติเข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทันที พล.ต.อ.วิสนุ จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการในส่วนของจเรตำรวจเพื่อทำการตรวจสอบและมีหนังสือเชิญ พ.ต.ท.มานะพงษ์ เข้าให้ข้อมูลในวันจันทร์ที่ 20 มี.ค.2566 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน จตช.อาคาร 1 ตร.
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมายไม่พบว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้เดินทางมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด จึงได้สอบถามไปยัง พล.ต.ต.เจนกมล คำนวล ผู้บังคับการกองตรวจราชการ 8 สำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าว ได้เปิดเผยว่า พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ทำหนังสือมาขอเลื่อนการเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ โดยเหตุผลว่าเนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการเตรียม ซึ่งขอเลื่อนการเข้าให้ข้อมูลเป็นวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งทางคณะกรรมการก็มิได้ขัดข้อง
พล.ต.ต.เจนกมล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจแห่งชาติ ตามคำสั่งของ ผบ.ตร.ในเรื่องนี้นั้น มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะเอาผิดกับ พ.ต.ท.มานะพงษ์ แต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะตรวจสอบให้ได้ความจริงและให้ได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากที่ปรากฏในเอกสารที่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ ชี้แจงต่อคณะกรรมการตุลาการไป ซึ่งหากมีพยานหลักฐานพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจคนใดว่ากระทำผิดทางวินัย หรือทางอาญา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอย่างไรแล้ว คณะกรรมการก็จะทำรายงานสรุปเสนอ ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
สำหรับกรอบเวลาในการตรวจสอบที่กำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่านั้น ก็จะขออนุมัติขยายเวลาออกไปอีก อีกทั้งเพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงในทุกๆ ประเด็นเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทาง พล.ต.อ.วิสนุ ก็ได้เน้นย้ำกับคณะกรรมการว่าจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หากพบพยานหลักฐานบ่งชี้ว่ามีผู้ใดกระทำผิดก็จะไม่มีการละเว้นอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม สำหรับ ผบก.ปส.3 ที่คณะกรรมเชิญมาให้ข้อมูลในวันที่ 22 มี.ค. 66 นั้น ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม