นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการส่งเสริมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยว่า ปัจจุบันอำเภอศรีสัชนาลัย มีแปลงใหญ่ทุเรียนจำนวน 5 แปลง อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านตึก จำนวน 4 แปลง สมาชิก 212 ราย พื้นที่ปลูก 1,593 ไร่ และตำบลแม่สิน 1 แปลง พื้นที่ 552 ไร่ สมาชิก 96 ราย สามารถพัฒนาสินค้าเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนพระร่วง ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง แต่เพาะปลูกบนภูเขาและที่ราบเชิงเขาทำให้ทุเรียนมีรสชาติแตกต่างจากแหล่งอื่น เช่น มีสีเหลืองนวล เนื้อละเอียด แห้งไม่แฉะ กรอบ มัน ไม่หวานจัด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ที่ผ่านมาจังหวัดสุโขทัยมีรายได้จากการขายทุเรียนปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับชื่อพันธุ์หมอนทองพระร่วง มาจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์ให้มีชื่อสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น พร้อมเรื่องราวแหล่งกำเนิดสินค้า (Story) จึงมีการจัดประกวดการตั้งชื่อทุเรียนสุโขทัย จนได้ชื่อ หมอนพระร่วง ที่ชนะเลิศจากการส่งเข้าประกวดกว่า 500 รายชื่อ โดยคำว่า "หมอน" สื่อความหมายถึงชื่อพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในอำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และ "พระร่วง" หมายถึงราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรสุโขทัย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงมีหลายพระองค์แต่ที่ทรงมีชื่อเสียงมีพระบรมเดชานุภาพมากและเป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลัง คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านต่าง ๆ มากมาย เมื่อเอ่ยถึงพระร่วงก็ต้องนึกถึงสุโขทัย จึงเป็นที่มาของชื่อ "หมอนพระร่วง"
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จุดเด่นกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนในจังหวัดสุโขทัย คือการรวมตัวที่เข้มแข็งมาก มีการร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า และกิจกรรมพัฒนาสินค้าเป็นประจำ เช่น กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ด้านการเกษตร กิจกรรมสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร กิจกรรมแจ้งเตือนเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับทุเรียน เช่น การระบาดของโรคและแมลง กิจกรรมการทำตลาดท้องถิ่นและตลาดออนไลน์ กิจกรรมอบรมระบบการซื้อขายทุเรียนออนไลน์ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าใจ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดสุโขทัย มีความมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการเปิดเป็นโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนและซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยเน้นให้นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อยู่กินร่วมกับชาวบ้านจริง ๆ ตั้งแต่อาหารการกิน การแต่งกาย การถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น และบริการจักรยานให้