พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพโทรศัพท์ไปยังประชาชนแอบอ้างเป็นพนักงานห้างสรรพสินค้าปลอดอากร ส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ทำตามขั้นตอนเพื่อรับส่วนลด และของสมนาคุณฟรี ดังนี้
ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากการได้รับโทรศัพท์ของมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นพนักงานของบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดอากร แจ้งผู้เสียหายว่า เป็นผู้โชคดีได้รับส่วนลด 34% และของสมนาคุณฟรี เนื่องในโอกาสครบรอบ 34 ปี ของการก่อตั้งบริษัท โดยขั้นตอนแรกจะต้องแอดไลน์ของบริษัท เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ เสียก่อน ผู้เสียหายจึงได้แอดไลน์บริษัทปลอม มีการใช้รูปภาพ สัญลักษณ์ของบริษัท และใช้ไอดีไลน์ใกล้เคียงกับชื่อบริษัท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นมิจฉาชีพได้ทำการสอบถามชื่อนามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ และระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือที่ผู้เสียหายใช้งาน ต่อมาได้ส่งลิงก์ให้กดติดตั้งแอปพลิเคชันของบริษัทปลอม โดยมีการขอสิทธิติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .Apk) มีการให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล หลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลายครั้ง ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มักกรอกเลขชุดเดียวกันกับรหัสในการทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารของตน รวมไปถึงขอสิทธิในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ โดยในขั้นตอนนี้มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนผู้เสียหายว่าทำอย่างไร หรือในบางครั้งจะโทรไลน์มาบอกวิธีการด้วยตนเอง เพื่อให้เหยื่อไม่ทันระวังตัว กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เสมือนโทรศัพท์มือถือค้าง โดยมักจะแสดงข้อความว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ กระทั่งมิจฉาชีพนำรหัส 6 หลัก ที่ผู้เสียหายเคยกรอกไว้ก่อนหน้านี้ทำการยืนยันการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหายได้ทั้งหมด
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว มิจฉาชีพจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชื่อหน่วยงาน หรือบริษัทไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ สร้างเรื่องมาหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิต่างๆ เนื่องในโอกาสต่างๆ การหลอกลวงให้อัปเดตข้อมูล สุดท้ายแล้วจะให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้นๆ ที่ผ่านมา ก็ปรากฏในหลายๆ กรณี เช่น กรมสรรพากร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สายการบิน Thai Lion Air, บริษัท ไทยประกันชีวิต, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, บริษัท Grab รวมไปถึงโครงการของรัฐต่างๆ โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ใช้ความสมัครใจหลอกลวงเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ สร้างความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังประชาชน ให้ระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ รวมไปถึงฝากแจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด หรือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ หากได้รับสายโทรศัพท์ ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้ช่วยกันแจ้งเตือน ตรวจสอบ เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1. ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ หรือให้โปรโมชันต่างๆ
2. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ขอทราบชื่อพนักงาน หมายเลขพนักงาน แล้วโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง ว่ามีนโยบายดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
3. ไม่ดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นแอปพลิเคชันที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
4. ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
5. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
6. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ไม่ควรตั้งรหัสเหมือนกันทุกธนาคาร หากเหมือนกันให้รีบเปลี่ยนทันที
7. หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ทำการปิด Wi-fi Router หรือถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออกทันที
8. ตรวจสอบว่าโทรศัพท์มือถือปลอดภัยจากกรณีดังกล่าวหรือไม่ โดยเข้าไปที่การตั้งค่า ไปที่การช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) หากไม่สามารถเข้าถึงได้แสดงว่ามีความผิดปกติ ให้รีบทำการตัดสัญญาณการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตทันที
9. เปิดใช้งาน Google Play Protect เพื่อตรวจสอบแอปพลิเคชันอันตราย โดยเข้าไปที่ Play Protect หากพบแอปพลิเคชันที่อันตรายให้ถอนการติดตั้งทันที
10. อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ