xs
xsm
sm
md
lg

นำร่อง! โครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ จ.สมุทรสาคร สร้างงานผู้พ้นโทษ ลดทำผิดซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online -สมศักดิ์” เผย โครงการนิคมอุตสาหกรรม 4 ภาค 5 แห่ง รัฐประหยัดค่าใช้จ่าย 42,200 ล้านบาท นำร่อง จ.สมุทรสาคร พร้อมสร้างอาชีพ ช่วยสังคมแข็งแรงขึ้น

วันนี้ (12 มี.ค.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม ส่งเสริมการจ้างงานผู้ต้องขัง ด้วยโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานทําและมีอาชีพหลังพ้นโทษ โดยเริ่มนําร่องที่ จ.สมุทรสาคร ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร และขณะนี้มีการศึกษาแนวทางจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 4 ภาค 5 แห่ง จ.ลําพูน นครราชสีมา สมุทรสาคร สมุทรปราการ และ สงขลา ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 1 แห่ง สามารถรองรับแรงงานได้ 20,000 คน และยังทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ ทําให้นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 แห่ง จะเกิดการจ้างงานผู้ต้องขัง 100,000 คน ช่วยทําให้รัฐบาล ไม่ต้องเสียงบประมาณในการสร้างเรือนจําเพิ่ม โดยปกติเรือนจํา 1 แห่งรองรับผู้ต้องขังได้ 4,000 คน ใช้งบประมาณสร้างแห่งละ 1,600 ล้านบาท หากสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 แห่ง จะช่วยให้ไม่ต้องสร้างเรือนจําเพิ่มถึง 25 แห่ง ประหยัดงบประมาณได้ถึง 40,000 ล้านบาท เพราะการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นการร่วมลงทุนของเอกชน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายดูแลผู้ต้องขัง เช่น ค่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ของจําเป็น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัย เฉลี่ยคนละ 22,000 บาทต่อปี ถ้าผู้ต้องขังออกไปทํางาน 100,000 คน ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 2,200 ล้านบาท โดยในนิคมอุตสาหกรรมฯ จะทําให้ผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพักโทษ สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ เนื่องจากมีรายได้จากการทํางานแล้ว เฉลี่ยคนละ 8,000 บาทต่อเดือน และหากรวมทั้ง 5 นิคมที่รองรับแรงงานได้ถึง 100,000 คน จะทำมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 9,600 ล้านบาทต่อปี โดยทางกรมราชทัณฑ์ ก็ได้มีการฝึกวิชาชีพอบรมให้แก่ผู้ต้องขัง ประกอบด้วย 1. งานช่างต่างๆ เช่น ช่างคอมพิวเตอร์ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างไม้ ช่างสี ช่างปูน 2. งานลักษณะบริการ เช่น นวดแผนไทย เสริมสวย คาร์แคร์ อาหาร ขนมและเครื่องดื่ม รวมทั้งยังมีการสอนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ รวมถึงโหรศาสตร์ด้วย

“ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ มักจะเจอปัญหาผู้พ้นโทษ กลับมากระทําผิดซ้ำในรอบ 3 ปี เฉลี่ยถึง 35% เพราะสาเหตุหลักไม่มีอาชีพ โดยจากการเปิดให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษ ได้ทดลองทํางานจํานวน 482 คน พบมีผู้ผิดเงื่อนไข 36 ราย ซึ่งเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อผู้ต้องขังมีงานทําเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นกลไกสําคัญในการดูแลผู้ต้องขัง จนสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างแข็งแรง มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดการกลับเข้าวงจรทําผิดแบบเดิมๆ ได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น