xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิเด็กฯ ยื่น ก.ยุติธรรม ช่วยเหลือ ด.ญ.วัย 14 ถูกรุมโทรม เข้าคุ้มครองพยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - เลขาฯ รมว.ยธ. รับเรื่องจาก “ป้ามล-ทิชา” นำทีมมูลนิธิเด็ก ขอคุ้มครองพยาน กรณีเด็กหญิง 14 ปี ที่ถูกผู้ต้องหา 11 คน รุมโทรมกว่า 2 ปี เพื่อขอคุ้มครองพยาน หวั่นไม่ปลอดภัย

วันนี้ (2 มี.ค.) เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว พร้อม นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้มีการนำคดีของเด็กหญิงวัย 14 ซึ่งถูกชายกว่า 15 คน รุมโทรมต่อเนื่องหลายปีใน จ.เลย เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน เพื่อความปลอดภัย ไม่ถูกแทรกแซง สร้างความเข้มแข็งก่อนเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรม โดยมี ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้รับมอบหนังสือ

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเด็กฯ ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมหลายกรม อาทิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ , กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหลายกรณีที่ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือในทางคดี ช่วยเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้เสียหาย และครอบครัว เตรียมความพร้อมก่อนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในชั้นศาล เช่น คดีบ้านเกาะแรด จ.พังงา เมื่อหลายปีก่อน , คดีบ้านดงมอน จังหวัดมุกดาหาร และล่าสุด เกิดเหตุการณ์เด็กหญิงอายุ 14 ปี ถูกผู้ต้องหา 11 คน รุมโทรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 จนถึง ม.ค.2566 ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ “ร้อยตำรวจเอก” หนำซ้ำช่วงหนึ่งของการก่อเหตุยังเป็นช่วงที่เด็กหญิงคนดังกล่าวตั้งครรภ์ และยังพบว่ามีผู้กระทำรายใหม่เพิ่มอีก 4 ราย

“ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เชียงกลม ได้นำตัวผู้ต้องหา 11 คน ฝากขังที่ศาล จังหวัดเลย ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัว 5 คน ส่วนอีก 6 คนไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากโทษค่อนข้างสูง แต่ล่าสุดพบว่าญาติของผู้ต้องหามีการเคลื่อนไหวอย่างหนักในพื้นที่ เพื่อกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงครอบครัวของผู้เสียหายซึ่งมีเพียงแม่ และยายที่พิการตาบอดทั้งสองข้าง ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และกังวลในเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวเป็นอย่างมาก” นายชูวิทย์ กล่าว

ด้าน นางทิชา เผยว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้มีรูปแบบใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นที่บ้านเกาะแรด จ.พังงา ในปี 2559 มีกลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวนมาก เป็นกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่และทำมาต่อเนื่อง ซึ่งครอบครัวผู้ถูกกระทำมีฐานะยากจน ไม่มีปากมีเสียง ต้องออกไปทำงานตัดยางตอนกลางคืน ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุสบช่องในช่วงเวลาดังกล่าวเข้ามากระทำและมีการข่มขู่สารพัด แม้ขณะนี้ตัวเด็กหญิงผู้เสียหายจะอยู่ในการคุ้มครองในบ้านพักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่เนื่องจากตามกฎหมายแล้วสามารถอยู่ได้แค่ 90 วัน และยังกังวลในเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว เลยจำเป็นต้องขอให้ผู้เสียหายและครอบครัวเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยานจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นางทิชา เผยอีกว่า จากกรณีนี้ มูลนิธิเด็กฯ จึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรม ดังนี้ 1. ขอให้กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งนำเด็กหญิง คุณแม่และคุณยาย เข้าสู่การคุ้มครองพยานโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของพยานและป้องกันไม่ให้ถูกแทรกแซง 2. ขออนุญาตให้มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และทีมงานเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกระบวนการเสริมพลังใจ (Empowerment) กับเด็กหญิง และครอบครัว อันจะนำไปสู่ความยุติธรรม และการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ขอให้กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งถอดบทเรียนการทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามองค์กร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขระบบ กลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนทาง ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความหดหู่ใจและไม่ควรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ขอยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรมยังคงเข้มแข็งพอที่จะดูแลภาคสังคมและจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้เป็นอันขาด โดยหลังจากนี้จะดำเนินการสั่งการให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนำตัวครอบครัวผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิทธิของพยานทันที รวมถึงการเยียวยาตาม สิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา อีกทั้งจะมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึง สถาบันนิติวิทยาศาตร์ เข้ามาช่วยพนักงานสอบสวนในการลงพื้นที่แสวงหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพื่อนำมาลงโทษผู้กระทำความผิด

ส่วน ร.ต.อ. ผู้ก่อเหตุ โดยทาง ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า ขอใช้เวลาในการสืบสวนหาเรื่องราวสักระยะ ก่อนจะประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการทางวินัยกับตำรวจรายนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น